ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ครูโรงเรียนบ้านบางกะปิ" ร่ำไห้ร้องนายกฯ ช่วย หลังถูกโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธรักษา ตามสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน หลังเมียถูกรถเฉี่ยวเลือดคั่งสมอง หมอบอกต้องรีบผ่าตัดด่วน จำใจเซ็นยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองเกือบครึ่งล้าน จนหนี้ท่วม แถมสะเพร่าทำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะหายแล้วไม่รับผิดชอบ ด้าน "สปสช." แนะแก้กฎหมายสถานพยาบาลเอาผิด หลังพบประชาชนถูกเอาเปรียบ

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำนายประเสริฐ อชินีทองคำ ข้าราชการครูโรงเรียนบ้านบางกะปิ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลได้ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่นางสุภัคคินี อชินีทองคำ อายุ 53 ปี ภรรยา ประสบอุบัติเหตุ และถูกส่งไปยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่แพทย์ปฏิเสธการใช้สิทธิฉุกเฉิน และแจ้งว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งที่เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาตัวได้ในทุกโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55

นายประเสริฐ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 55 ภรรยาได้ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยวชน สลบ มีเลือดไหลบริเวณจมูก จึงได้รีบนำส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเพื่อรักษาตัว แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธในการให้ใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยอ้างว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. แต่ด้วยอาการของภรรยาสาหัสมาก มีเลือดคั่งในสมอง แพทย์บอกต้องได้รับการผ่าตัดด่วน จึงได้เซ็นยินยอมว่ายินดีจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งการผ่าตัด 2 ครั้ง ต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 459,905 บาท หลังจากนั้น 3 วัน จึงตัดสินใจส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะกังวลกับค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องกู้มาเพื่อจ่ายค่ารักษาให้กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นไปแล้ว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า จึงอยากเรียกร้องให้ สปสช. พิจารณาคืนค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ขาดไปให้กับครอบครัว และให้ภรรยาได้รับสิทธิผู้พิการซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือ 500 บาทต่อเดือน เนื่องจากปัจจุบันภรรยาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ต้องจ้างพยาบาลมาดูแลเดือนละ 18,000 บาท ส่งผลให้มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก รวมทั้งขออนุเคราะห์ให้บุตรทั้ง 2 คนได้รับทุนการศึกษาเล่าเรียน

"ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลภรรยา และดูแลบุตรทั้ง 2 คน มีมากกว่ารายรับจากอาชีพครูของตัวเอง อีกทั้งยังโชคไม่ดี เมื่อทางโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ทำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะของภรรยาหาย และจะนำชิ้นส่วนของผู้ป่วยคนอื่นมาให้แทน แต่เมื่อไม่รับ ก็อ้างว่าจะรับผิดชอบให้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาเกือบปีก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะรับผิดชอบอย่างไร" นายประเสริฐ กล่าวทั้งน้ำตา

ทั้งนี้ นพ.ทศพร รับปากที่จะไปดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล และย้ำว่านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องรักษาได้ทันทีฟรีในทุกโรงพยาบาล แต่ยอมรับว่าอาจติดขัดในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนซึ่งไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ จึงจะนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

นพ.ทศพร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ทำหน้าที่จัดการธุรกรรมการเบิกจ่าย และระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดระบบประกันสุขภาพ ทั้งนี้ สปสช.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกและเรียกเก็บค่าบริการสาธารณสุขในระบบเดียวกัน ไม่ว่าจะขอเบิกจากกองทุนใด ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณปี 57 ไว้เพื่อรองรับการดำเนินการเรื่องนี้ 4 พันล้านบาท และหากไม่เพียงพอจะตั้งงบประมาณปี 58 ในภายหลัง

นพ.ทศพร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ในที่ประชุม สปสช.ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคของการเข้ารับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายไว้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1130 พบว่าในช่วง 11 เดือนมีประชาชนร้องเรียนว่าถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจำนวน 1,148 ราย จากการตรวจสอบพบว่าผู้ป่วยจำนวน 150 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 14.53 เข้ารับบริการด้วยอาการไม่ฉุกเฉินตามที่กำหนดทำให้โรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ ส่วนที่เหลืออีก 882 ราย หรือร้อยละ 85.47 เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินจริง ที่ไม่ควรถูกเรียกเก็บเงิน อย่างไรก็ตามทาง สปสช.ได้เสนอทางแก้ไขว่าเนื่องจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ไม่ได้กำหนดเรื่องการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลไว้ จึงไม่มีข้อบัญญัติทางกฎหมายหรือบทลงโทษในการเรียกเก็บเงิน จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับนโยบาย โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 เมษายน 2556