ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีต รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงแรกชมรมแพทย์ชนบทออกมาคัดค้านนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) แต่เมื่อปลุกกระแสสังคมไม่ขึ้นจึงเปลี่ยนไปนำเสนอประเด็นทุจริตเข้ามาแทน ทั้งที่หากเป็นปัญหาเรื่องนโยบายพีฟอร์พีและค่าเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ก็ควรมีการเจรจาหาทางออกกัน แต่การไปเปิดประเด็นทุจริตทำให้สังคมสับสนไปอีกว่ามีความต้องการอะไรกันแน่

นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารสุข กล่าวว่า เมื่อปลัด สธ. ได้ออกประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ จึงได้มีการออกประกาศเรื่องพีฟอร์พีหรือเบี้ยขยันมาเป็นส่วนเสริม และบุคลากรทุกส่วนทุกคนในโรงพยาบาลมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในส่วนนี้ ส่งผลให้บริการมีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น อาจยุ่งยากในช่วงเริ่มต้นเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล แต่ในฐานะที่ตนได้เริ่มให้ศึกษาทดลองระบบพีฟอร์พีนำร่องที่ รพ.พาน จ.เชียงราย และ รพ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เมื่อ 10 ปีก่อน พบว่าบุคลากรในโรงพยาบาลต่างพอใจ

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของกระทรวงสาธารณสุขว่า ตั้งแต่เริ่มแรกที่พยายามซื้อผ่านกรมโดยให้รองปลัดกระทรวงเป็นผู้ดำเนินการ แต่รองปลัดกระทรวงไปปรึกษากับอดีตรองปลัดกระทรวง ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าอย่าทำ และให้กระจายโครงการไปให้จังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจซื้อแทน โดยปัจจุบันไม่มีใครซื้อเครื่องมือดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการภายในมาตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมทั้งส่งเรื่องฟ้องดีเอสไอตรวจสอบด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556