ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยต่ำ สาเหตุเกิดจากแม่ที่ขาดความรู้และทักษะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายจัดการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ “ภาคีร่วมใจ ช่วยแม่ไทย ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่” “Breastfeeding and Work–Let’s Make it Work!” หนุนแม่วัยทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ

วันนี้ (2 กันยายน 2558) นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ประธานที่ปรึกษาปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 5 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างเดียว 6 เดือนเต็ม และเลี้ยงควบคู่อาหารที่เหมาะสมตามวัยจนลูกอายุครบ 2 ปี เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกมากที่สุด เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด และหัวน้ำนมหรือโคลอสตรัม ยังอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ถือเป็นวัคซีนหยดแรกสำหรับลูก เพื่อเป็นช่วงที่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด ในขณะที่เด็กแรกเกิดยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ เด็กที่กินนมแม่จึงมีภูมิต้านทานโรค ช่วยกำจัดเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัสและเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลูกป่วยเป็นไข้หวัด ปอดอักเสบ ท้องร่วงน้อยกว่าทารกที่กินนมผสม 2-7 เท่า ลดโอกาสเกิดโรคลำไส้เน่าอักเสบในทารกเกิดก่อนกำหนดถึง 20 เท่า และลดโอกาสเกิดโรคอื่นๆ เช่น ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภูมิแพ้ และเบาหวาน ประมาณ 2–5.5 เท่า

ด้าน พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างเดียว 6 เดือนแรก หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีเพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ ปกป้องสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต แต่ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ยังพบว่าต่ำมากที่ร้อยละ 12.3 สำรวจโดย UNICEF และร้อยละ  27.6 สำรวจโดยกรมอนามัย จากเป้าหมายของประเทศที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 60 สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากแม่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม่ทำงานนอกบ้าน สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่เอื้อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การตลาดของนมผงดัดแปลงสำหรบทารกที่ทำให้แม่เข้าใจว่านมผงมีคุณค่าเท่ากับนมแม่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขบางส่วนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องชัดเจน ในการช่วยเหลือแม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ก่อนออกจากโรงพยาบาล หรือการติดตามช่วยเหลือเมื่อแม่ประสบปัญหาหลังออกจากโรงพยาบาล

ด้าน นพ.ณัฐพร วงษ์สุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การบีบเก็บน้ำนมเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแม่วัยทำงาน ปัจจุบันมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการบีบเก็บน้ำนม หรือสามารถใช้มือตนเองบีบก็ได้ เริ่มจากการล้างมือให้สะอาด ใช้มือข้างที่ถนัดวางนิ้วหัวแม่มือไว้ด้านบนของเต้านม และนิ้วชี้ด้านตรงข้ามบริเวณขอบนอกของลานนม ห่างจากฐานหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร ไม่ควรวางนิ้วที่บริเวณหัวนมเนื่องจากจะไปกดท่อรูเปิดทำให้น้ำนมไม่ไหล แล้วกดนิ้วมือทั้งสองเข้าที่หน้าอกให้เต้านมบุ๋ม เมื่อบีบนิ้วเข้าหากันจนน้ำนมจะพุ่งออกมา ให้นำขวดแก้วหรือถ้วยรองรับน้ำนม เมื่อน้ำนมไหลให้ผ่อนนิ้วได้ โดยการกดบีบคลายเป็นจังหวะ 1-2 วินาทีต่อครั้ง น้ำนมจะไหลพุ่ง ให้บีบเป็นจังหวะจนกระทั่งน้ำนมน้อยลง จึงค่อยๆ เลื่อนนิ้วทั้งสองไปรอบๆ ลานนมแต่ละเต้าใช้เวลา 15 นาที น้ำนมก็จะเริ่มไหลช้าลง จากนั้นย้ายไปที่เต้านมอีกข้างหนึ่งโดยให้บีบสลับทั้งสองเต้าจนกระทั่งครบ 30 นาที ส่วนการเก็บน้ำนม แม่ควรบีบน้ำนมทิ้งก่อน 3 ครั้ง แล้วจึงใช้ขวดรองเก็บ ซึ่งการเก็บน้ำนมลงในขวดควรเก็บเท่ากับปริมาณที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้ปิดฝาขวดให้มิดชิดทันที ถ้าตั้งไว้โดยไม่ใส่ในตู้เย็นน้ำนมจะอยู่ได้ 6-8 ชั่วโมง ถ้าเก็บในตู้เย็นให้เก็บในส่วนที่เย็นที่สุด คือ ชั้นที่ติดกับชั้นแช่แข็งด้านในสุดจะเก็บได้นาน 2 วัน หากเก็บในช่องแช่แข็งจะเก็บได้นาน 3 เดือน แต่ห้ามเก็บไว้ตรงประตูตู้เย็นเพราะเป็นส่วนที่เปิด-ปิด ทำให้ความเย็นไม่คงที่

พญ.ศิริพร กล่าวในตอนท้ายว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และภาคีเครือช่ายกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และสภาการพยาบาล จัดการประชุมวิชาการ นมแม่แห่งชาติ “ภาคีร่วมใจ ช่วยแม่ไทย ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่” “Breastfeeding and Work–Let’s Make it Work!” ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2558 เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ และหาเทคนิคในการสนับสนุนแม่วัยทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ รวมทั้งกำหนดนโยบายที่สนับสนุนให้มีการสร้างสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น มุมนมแม่ และศูนย์เด็กเล็ก ในสถานที่ทำงานเพื่อช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ และสร้างเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมทั่วประเทศ