ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 12 ปีแล้ว สำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองแรกเริ่มงบประมาณรายหัวอยู่ที่ 1,200 บาท ปัจจุบันเพิ่มสูงเป็น 2,955 บาท ในปี 2557 งบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท

"โพสต์ทูเดย์" มีโอกาสได้คุยกับ วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพในยุคที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ประกาศเตรียมควบคุมงบประมาณ

วิโรจน์ ให้ภาพว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั่วโลกเพิ่มขึ้นคือ เทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้าและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มงบประมาณในอนาคตที่จะต้องใช้ย่อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามดึงคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษา ซึ่งคนไข้ต่างชาติที่เข้ามามักมีกำลังซื้อสูงกว่าคนไทย ทำให้สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าคนไทยมากโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจึงปรับตัวเป็นโรงพยาบาลระดับไฮคลาสเพื่อรับคนไข้เหล่านี้

ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลสนับสนุนให้โรงพยาบาลปรับตัว เพราะทำให้มีเงินตราวิ่งเข้ามาในประเทศ แพทย์ได้เงินเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลได้รายได้มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบด้านลบก็คือ ค่ารักษาพยาบาลและเงินเดือนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากมีผลต่อค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องเพิ่มตามเพื่อรักษาบุคลากรในภาครัฐ

"เมื่อเงินเดือนหมอแพงขึ้นค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม และ 30 บาทก็ต้องปรับตาม ดึงกันเป็นทอดๆ โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ก็ไปดึงอาจารย์โรงเรียนแพทย์มา โรงเรียนแพทย์ก็ไปดึงหมอโรงพยาบาลเฉพาะทางและโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลศูนย์ก็ไปดึงหมอโรงพยาบาลชุมชนรัฐบาลก็ต้องขึ้นเงินเดือนแข่ง เพื่อดึงหมอไว้ในระบบยิ่งเราประสบความสำเร็จในเมดิคัลฮับเท่าไร แพทย์ก็จะถูกดึงไป ในที่สุดถึงแม้เราจะผลิตแพทย์เพิ่มแต่ก็จะถูกดึงไปเกือบหมด เหลือแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนเท่าเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่ยังมีสัญญาต้องใช้ทุนอยู่"

ทว่า เมื่อกลับมามองงบประมาณที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งถูกมองว่าสูงเกินไป นักวิชาการรายนี้บอกว่า ตัวเลขอาจจะดูสูงขึ้นมากก็จริง แต่ในแง่การทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นนั้นยังไม่เพียงพอ

"เราดูตั้งแต่แรกแล้วว่างบที่ตั้งไว้มันไม่พอแน่ๆ วันนี้สถานการณ์อาจจะดีขึ้นในแง่ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เริ่มมีเงินพอสำหรับทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น มีหมอสองคน ก็มีเงินพอจ้างในอัตราที่สูงพอสมควร บุคลากรที่มีอยู่ก็แฮปปี้ แต่ถามว่าหมอสองคนพอหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็คงไม่พอที่จะให้บริการที่มีคุณภาพที่ดีได้ เพราะฉะนั้นระยะยาวถ้าจะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้บริการที่มีคุณภาพจริง ต้องใส่เงินเพิ่มไปอีกมาก"

วิโรจน์ ตั้งคำถามถึงแนวทางการสร้างระบบประกันสุขภาพที่มั่นคงว่าอาจต้องถามกลับไปยังรัฐบาลว่าพร้อมหรือไม่ ที่จะใช้อำนาจในการเก็บภาษีจากประชาชนที่มีกำลังจ่าย เพื่อให้ดูแลสุขภาพของพวกเขาให้ดีมากขึ้น

"ในหลายประเทศ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงกว่าเรามาก แต่เขาไว้ใจรัฐบาลและไว้ใจระบบ เขาก็ยินดีที่จะให้รัฐเก็บเงินมากขึ้น เช่น แคนาดา ที่ระบบหลักเป็นระบบเดียว ไม่ปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนแข่งกับภาครัฐ ประชาชนจำนวนมากเลยยินดีจ่ายภาษีให้รัฐไปปรับปรุงโรงพยาบาลให้ดีขึ้น"

ทั้งหมดนี้กลับตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในประเทศไทย วิโรจน์ บอกว่า ประชาชนในประเทศไทยที่พอจะมีกำลังจ่ายกลับไม่ไว้ใจระบบและโครงการรัฐทำให้ไม่อยากจ่ายภาษีเพิ่ม เขาเหล่านั้นเลือกที่จะเก็บเงินไว้เพื่อไปจ่ายในสถานพยาบาลเอกชนแทน

วิโรจน์ วิพากษ์ระบบร่วมจ่าย 30 บาทว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากไม่ควรเน้นที่จะหารายได้เป็นกอบเป็นกำจากการร่วมจ่าย เพราะหลักการของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือให้ทุกคนได้รับการรักษาที่จำเป็น การร่วมจ่ายอาจไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีการร่วมจ่ายที่มีนัยสำคัญในระดับที่มีผลทำให้คนที่มีรายได้ต่ำต้องคิดหนักว่าเมื่อลูกหรือตัวเองไม่สบายจะไปหาหมอดีหรือไม่

เมื่อนั้นก็จะไม่ใช่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2556