ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"บัตรทอง" หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลายเป็นปัญหาร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พยายามเสนอแนวทางให้ผู้ป่วยร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการเสนอวาระนี้เข้าที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข แต่เครือข่ายเอ็นจีโอกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้าน ทำให้ต้องรีบถอนวาระออกไปอย่างเร่งด่วน!!         

เบื้องหลังความเป็นมาของเรื่องนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลแบกรับงบประมาณค่าใช้จ่ายบัตรทอง เพื่อดูแลประชากร 48 ล้านคนจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้ใช้วิธี โค-เพย์ (co-pay)หรือการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วย เหมือนบางประเทศ เพื่อลดภาระของรัฐบาล โดยเสนอ 3 ทางเลือกเบื้องต้น ได้แก่

1.ให้ประชาชนรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนแรกก่อน (Deductible) แต่ข้อนี้อาจทำไม่ได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่า ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ห้ามแบ่งแยกฐานะของผู้ใช้บริการ การต้องจ่ายเงินบางส่วนก่อนอาจกีดกันการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

2.ใช้มาตรการทางภาษี จากเงินรายได้บางแห่ง เช่น "ภาษีบาป" หรือภาษีจากสินค้าที่อันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุรา ฯลฯ

3.ขอให้ประชาชนจ่ายเงินสมทบ ถือเป็นการบังคับให้ผู้มีฐานะการเงิน หรือผู้สามารถจ่ายได้ ช่วยเงินสมทบเข้ากองทุน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า การนำวาระ "แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐกับผู้ป่วย" เข้าสู่การพิจารณา เพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรีและข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้สปสช.พิจารณาเรื่องนี้ในปีงบประมาณ 2557 แต่เมื่อหลายฝ่ายคัดค้านก็เลยตัดสินใจถอนเรื่องนี้ออกไป และให้สอบถามความคิดเห็นจากภาคประชาชนก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในคราวหน้า 

หลายฝ่ายยอมรับว่า เรื่อง โค-เพย์ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ประเด็นสำคัญคือ คนไทยพร้อมช่วยจ่ายหรือไม่?

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วชิรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าโค-เพย์มีข้อดีคือ ช่วยเพิ่มงบประมาณให้บัตรทอง เป็นการดึงเงินจากภาคประชาชนเข้ามาทำให้ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งต่างประเทศทำกันจนเป็นเรื่องปกติ เพราะคนของเขามีฐานะเศรษฐกิจดี พร้อมควักเงินจ่ายช่วยค่ารักษาตัวเอง แต่สำหรับคนไทยแล้ว อัตราคนรวยมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและผู้มีฐานะลำบากยากจน ยังไม่มีความพร้อมในการจ่ายเงิน สำหรับข้อเสียระบบโค-เพย์ คือ "การแบ่งแยกชนชั้น"กลายเป็นว่าคนมีเงินมีฐานะช่วยจ่ายสมทบ อาจได้รับบริการและยารักษาดีกว่าคนที่ไม่มีเงินช่วยจ่าย รวมถึงความยุ่งยากในการจัดเพดานการให้เงินสมทบด้วยไม่รู้ว่าเท่าไรอย่างไรถึงจะเหมาะสม

"สำหรับคนจนแล้ว แม้แต่ช่วยจ่ายแค่ 30 บาทยังเป็นภาระของเขาเลย และเป็นภาระให้โรงพยาบาลด้วย เพราะต้องทำระบบบัญชีต่างๆ ถือว่าไม่คุ้ม ให้รักษาฟรีเลยประหยัดกว่ามาเสียเวลาเก็บเงินเล็กๆ น้อยๆ ผมอยากเสนอให้ใช้วิธีบริจาคโดยสมัครใจมากกว่า ใครคิดว่ามีเงินอยากช่วยค่ารักษาของตัวเองก็บริจาคเลยเท่าไรก็ได้ รัฐบาลควรให้เงินบริจาคส่วนนี้เอาไปลดภาษีได้ หมอก็รักษาไปตามปกติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องแบ่งแยกชนชั้นว่าคนป่วยคนไหนให้เงินสมทบหรือไม่ ก่อนจะใช้ระบบ โค-เพย์ ควรจัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายก่อนพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบไม่จำเป็นต้องรีบร้อนทำ" พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดก็ควรลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อาจไม่ต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงหลายแสนล้านบาท แล้วเอาเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือค่ารักษาของคนป่วยดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารของบัตรทองยังต้องปรับปรุงอีกมากไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องเงินแต่เกี่ยวกับบุคลากรการแพทย์ที่ไม่เพียงพอกับคนไข้ ต่อให้มีเงินมากขึ้นถ้าไม่มีหมอรักษา คนป่วยยังต้องต่อคิวรอนานเหมือนเดิม

ด้าน "สารี อ๋องสมหวัง" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายโค-เพย์ กล่าวว่า เหตุผลที่ สปสช.พยายามให้ผู้ป่วยจ่ายเงินสมทบ เพราะอ้างว่ามีคนไปใช้บริการในโรงพยาบาลมากเกินความจำเป็น คนละประมาณ 3 ครั้งต่อปี ตนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ใครป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาลถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วยังน้อยเพราะบางประเทศอัตราเฉลี่ยคนละ 10 ครั้งต่อปี ยิ่งไปกว่านั้นการเก็บเงินสมทบทำให้ผู้ไม่มีเงินจ่ายถูกเลือกปฏิบัติเหมือนคนอนาถาเศรษฐีป่วยได้ยานอก คนจนได้ยาไทย

"อาจเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ส่วนตัวแล้วเท่าที่วิเคราะห์นโยบายนี้ น่าจะมีขบวนการจ้องทุจริตอยู่เบื้องหลัง มีอะไรไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรเภสัชกรรม พยายามทำให้คนเชื่อว่า ยาไทยไม่มีประสิทธิภาพเท่ายาต่างประเทศ ทำอย่างนั้นเพราะอยากสั่งซื้อยาเมืองนอก จากสั่งซื้อจากบริษัทยาต่างประเทศจะได้เงินใต้โต๊ะ สังคมไทยต้องช่วยกันติดตามว่าเบื้องหลังโค-เพย์ คืออะไร ต้องการให้สั่งยานอกและวัสดุการแพทย์จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นใช่หรือไม่  หรือมีประโยชน์อะไรแอบแฝงอีก" สารี ตั้งคำถามทิ้งท้าย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและกลุ่มแพทย์ชนบทได้ยุติการชุมนุม โดยจะนัดจัดประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกับตัวแทนรัฐบาลในต้นเดือนมิถุนายนเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยมีข้อเสนอให้งดใช้ระบบโค-เพย์  รวมถึงยกเลิกการเก็บค่าร่วมจ่ายที่จุดบริการทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการ และหลีกเลี่ยงการทำให้หลักประกันสุขภาพมีหลายระบบ หรือแบ่งแยกสำหรับคนรวย คนจน

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555

-งบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง  2,756 บาทต่อคน เพิ่มจากปี 2554 ที่ได้รับเพียง 2,456บาท

-งบประมาณสำหรับผู้ใช้บัตรทอง 48 ล้นคน  1.1 แสนล้านบาท

- งบบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 1.57  แสนคน 2,940 ล้านบาท

-งบบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 2.1 หมื่นคน 3,858 ล้านบาท

-งบบริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวช 1.1 แสนคน 187 ล้านบาท

-งบควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 1.6 ล้านคน 437 ล้านบาท

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)