ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างชมรมแพทย์ชนบท กับนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นานวันอุณหภูมิความร้อนแรงยิ่งเพิ่มมากขึ้น แม้ล่าสุดฝ่ายรัฐบาลจะสามารถเจรจากับชมรมแพทย์ชนบทขอให้ทบทวนยุทธการบุกบ้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่6 มิ.ย. เปลี่ยนเป็นการส่งข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีแทน

ทว่าท่าทีและความแข็งกร้าวของชมรมแพทย์ชนบท ชมรมทันตภูธร สหวิชาชีพ ในโรงพยาบาลชุมชน และเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เอดส์ หัวใจ มะเร็ง โรคเลือด เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กลับไม่ได้ลดน้อยลง แต่ยิ่งสร้างเงื่อนไขใหม่ที่เพิ่มแรงกดดันรัฐบาลมากขึ้น

นายวิโรจน์   ณ  ระนอง  ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์สถานการณ์ขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และท่าทีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสุขภาพ ว่า การออกมาคัดค้านการปรับจ่ายค่าตอบแทน ตามผลการปฏิบัติงาน(พีฟอร์พี) ของกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้ได้รับผลกระทบจะออกมาคัดค้าน แต่จากการติดตามข่าวและความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมานั้น จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือการออกมาของทางชมรมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ และด้วยท่าทีแข็งกร้าวและรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

นายวิโรจน์ อธิบายว่า นอกเหนือจากการเปิดโปงการทุจริตยาในอดีตแล้ว บทบาทชมรมแพทย์ชนบทมักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการบริหารงาน ของฝ่ายบริหารกระทรวงสาธารณสุข เช่น การจัดสรรงบประมาณที่ ทำให้โรงพยาบาลชุมชนเสียเปรียบ หรือการกระจายงบประมาณไม่สนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างด้านกำลังคน รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อกังขาเช่น กรณีรถพยาบาล ซึ่งตนคิดว่าการคัดค้านพีฟอร์พีก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะเป็นการเสนอวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ โดยอาจไปกระทบกับผู้ปฏิบัติงานในบางพื้นที่ทำให้ได้ค่าตอบแทนน้อยลง

แต่จากการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่ามีการโยงประเด็นพีฟอร์พีไปเป็นการไล่รัฐมนตรีด้วยท่าทีที่ไม่ยอมประนีประนอม และปิดการเจรจากับตัว นพ.ประดิษฐ ทุกช่องทาง เพื่อหวังผลไปสู่การไล่ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

"ผมมองว่าการตั้งธงว่าเป้าหมายหลักคือการไล่ นพ.ประดิษฐ ดูจะไม่สมเหตุสมผลพอ การผลักดันนโยบายปรับจ่ายค่าตอบแทน เป็นเหตุผลที่ถึงกับต้องเคลื่อนไหวไล่เขาไปให้พ้นหรือ จากปมพีฟอร์พีเองที่มีการกล่าวหาว่า ออกมาตรการนี้มาเพื่อผลักดันให้แพทย์ชนบทลาออก เพื่อจะได้มีกำลังคนไปสนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนที่ทำเมดิคัลฮับ ซึ่งประเด็นนี้ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าเป็นการกล่าวหาที่ไปไกลมาก

เมดิคัลฮับและการรักษาคนไข้ต่างชาติเป็นนโยบายของทุกรัฐบาลตั้งแต่หลังวิกฤติ 2540 ซึ่งการศึกษาของเราพยายามชี้ถึงอันตรายที่นโยบายนี้จะดึงแพทย์จากภาครัฐเป็นทอดๆ และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในชนบท รวมถึงรัฐอาจต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นถ้าจะรักษาแพทย์ในภาครัฐเอาไว้ แต่การมาตั้งข้อกล่าวหาว่าเขาทำพีฟอร์พีเพื่อผลักดันแพทย์เมดิคัลฮับนั้น เป็นเหมือนการแต่งทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมากล่าวหากันมากกว่า"นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ มองว่า สำหรับตัวนพ.ประดิษฐ  เองนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความพยายามทำอะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ แต่ถ้าถามว่าการกระทำเหล่านี้เป็นความผิดหรือความเลวร้ายหรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่ายมากกว่า ซึ่งหากจะให้วิพากษ์เชิงลึกก็คงไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากไม่ได้รู้จักกับ นพ.ประดิษฐ เป็นการส่วนตัว แต่เคยฟัง รมว.สธ.คนนี้พูดเกี่ยวกับนโยบายอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งก็มีมุมมองที่น่าสนใจ เพราะเขามาจากภาคเอกชน ทำให้มีความแตกต่างจากคนที่อยู่ในระบบราชการ แต่นโยบายบางอย่างก็รู้สึกว่าเป็นการขายฝันมากเกินไป

คือฟังดูดีแต่ไม่ได้เสนอแนวทางในการนำไปปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น การใช้ทรัพยากรร่วมกันของภาครัฐและเอกชน และดูเหมือนจะติดกับดักความเชื่อที่ว่าประเทศจะมีปัญหาถ้าปล่อยให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเร็วกว่า GDP

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามในการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข โดยตั้งองค์กรสุขภาพต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งก็คือหน่วยงานตระกูล ส. ทั้งหลาย ซึ่งองค์กรเหล่านั้นมีภาพเป็นกลุ่มก้าวหน้า ในขณะที่ภาพของกระทรวงสาธารณสุขมักดูเหมือนว่าเป็นระบบราชการที่รับใช้ฝ่ายการเมืองเสียมากกว่า แต่ในระยะหลังเมื่อการเมืองระดับประเทศรุนแรงมากขึ้น หน่วยงานเหล่านี้บางแห่ง ก็มีบทบาทในการสนับสนุนเครือข่ายซึ่งหลายองค์กรมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเลือกข้าง ประกอบกับเงินงบประมาณส่วนใหญ่ที่เคยอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ถูกย้ายไปอยู่ที่ สปสช. ซึ่งมีผลเปลี่ยนวิธีจัดสรร และส่งผลกระทบกับหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

"สถานการณ์เช่นนี้ทำให้วงการแพทย์มีความเชื่อต่างกันเป็นฝ่ายโดยฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าหน่วยงานตระกูลสรวบอำนาจมากเกินไปและมีการสืบทอดอำนาจตั้งคนในเครือข่ายตัวเองหมุนเวียนกันมารับตำแหน่งแบบที่บางครั้งชัดเจนว่าผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงอยากจะให้มีการปลดล็อกตรงนี้ในขณะที่อีกฝ่ายก็เชื่อว่าผู้บริหารกำลังมีความพยายามเข้ามายึดเข้ามาโกงเมื่อมีการตีตราว่าอีกฝ่ายเลวแล้วเวลาฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบทำผิดก็มักจะมองข้ามไปด้วย" นายวิโรจน์ กล่าว อย่างแนวคิดจากการตั้ง สปสช. เกิดจากการมองว่า ในขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขเป็นทั้งผู้ถือเงินและผู้ให้บริการ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะซื้อบริการภาคเอกชน แม้กระทั่งในกรณีที่อาจเป็นประโยชน์กับประชาชน ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจึงเสนอว่าควรต้องแยกคนถือเงินกับคนให้บริการออกจากกัน แต่เราก็จะเห็นว่าคนที่ไปนั่งเป็นประธานบอร์ด สปสช.ก็ยังคงเป็น รมว.สธ. ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพียงแต่เป็นที่คาดหวังว่าคนที่ไปนั่งอยู่ตรงนั้นจะไม่ตาเล็กตาใหญ่ เลือกระหว่างผู้ให้บริการที่เป็นกระทรวงสาธารณสุข กับผู้ให้บริการภายนอกหรือภาคเอกชน

แต่เนื่องจากกลุ่มคนที่ไปอยู่ในตระกูล ส. ส่วนใหญ่เป็นพวกหัวก้าวหน้า ดังนั้นเมื่อจะต้องซื้อบริการจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วกระทรวงไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ ก็มีความพยายามในการสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพิ่ม เช่น การเอางบลงทุนไปจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้บุคลากรของกระทรวง จนทำให้ระบบมันยุ่งเหยิง ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าที่ของ สปสช. คือซื้อบริการและคอยควบคุมให้ผู้ให้บริการบริการตามมาตรฐาน ไม่ใช่เป็นคนจ่ายเงินให้กับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการ

"ประเด็นเรื่องเงิน 75 ล้านบาท ขององค์การเภสัชกรรม ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ ก็เป็นผลจากการทำระบบที่ต่างไปจากที่ควรจะเป็น เพราะเงินส่วนนี้เป็นเงินสีเทาเหมือนเงินต่างตอบแทน (kickback) ในการจัดซื้อ โดยมาอ้างว่าเป็นเงินตอบแทนที่หน่วยบริการได้รับคืนหากจ่ายเงินให้ อภ.ตรงเวลา ตามระบบการบริหารงานที่ดีแล้วนั้น เงินตอบแทนเหล่านี้ไม่น่าจะมีตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการจ่ายให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ซื้อบริการให้คนทั้งประเทศอย่าง สปสช. ที่ถูกแล้ว สปสช.ควรเสนอให้ยกเลิกไป โดยเจรจาให้องค์การเภสัชกรรมลดราคายาลงแทน ก็จะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่าการมาเถียงกันว่าใครควรมีสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของเงินก้อนนี้" นายวิโรจน์ กล่าว

ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ ทิ้งท้ายว่า หากดูสถานการณ์ความขัดแย้ง ภายหลังการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านพีฟอร์พี ขณะนี้ชมรมแพทย์ชนบทก็ยังคงอยู่ดีมีสุขพอสมควร เพราะมีทุนทางสังคมที่สั่งสมมา ทำให้เสียงด่าส่วนใหญ่จะไปตกอยู่ที่ นพ.ประดิษฐ เนื่องจากเมื่อดูตามรูปการและนโยบายต่างๆ ก็เชื่อได้ว่าฝ่ายบริหารมีความพยายาม เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างจริง

แต่การกล่าวหาคนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบว่าเป็นมีเจตนาที่เลวร้ายนั้นไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปเพราะคนที่ทำเขาอาจจะทำจากมุมมองของเขาเองว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสมหรือมีความไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นการมองจากคนละมุมดังนั้นการแก้ปัญหาต้องอาศัยการหันหน้ามาเจรจากัน

'สถานการณ์เช่นนี้ทำให้วงการแพทย์มีความเชื่อต่างกันเป็น2 ฝ่าย เมื่อมีการตีตราว่าอีกฝ่ายเลวเวลาฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบทำผิดก็มักจะมองข้ามไปด้วย จึงอยากให้ปลดล็อกตรงนี้'

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 มิถุนายน 2556