ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์

แซนด์ ชยิกา โพสต์ FB หวั่นแพทย์ชนบทตกเป็นเครื่องมือ กลุ่มจ้องล้มรบ. หลังเสียงแตก บางกลุ่มไม่ยอมรับผลเจรจา

วันที่ 12  มิถุนายน นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/Sand.Chayika ถึงผลการหารือของกระทรวงสาธารณสุขและชมรมแพทย์ชนบทเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ในหัวข้อ “ระวังเข้าใจผิด” ว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพในการไกล่เกลี่ย “สร้างความเข้าใจ” ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และชมรมแพทย์ชนบท ภายหลังจากที่ชมรมแพทย์ชนบท ออกมา “เรียกร้อง” ให้ยกเลิก “พีฟอร์พี” หรือการจ่ายเงินตามผลงาน เนื่องจากต้องการใช้ระบบเดิมที่เป็นระบบเหมาจ่าย 

โดยในวันนั้นผู้แทนแพทย์ชนบท ที่เข้าร่วมประชุม มาจาก 3 กลุ่มคือ (1) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ (2) กลุ่มสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม (3) กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน 

การประชุมในวันนั้นเป็นการประชุมเปิด ซึ่งมีสื่อมวลชนเข้ารับฟังอย่างคับคั่ง ซึ่งก็เป็นเพราะความตั้งใจภาครัฐ ที่ต้องการจะแสดงให้เห็นถึง“ความจริงใจในการเปิดรับฟัง” ข้อมูลจากฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ จากการปรับปรุงการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข 

ผู้แทนแพทย์ชนบททั้ง 3 กลุ่ม ได้ยื่นข้อเสนอรวมทั้งหมด 12 ข้อ ทว่า “สาระสำคัญ” ของการประชุมหารือในครั้งนี้ ก็คือเรื่อง “พีฟอร์พี” 

ซึ่งทาง “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน” ได้ชี้แจง ในฐานะ “ผู้ได้รับผลกระทบ” ได้ชี้แจงว่า แพทย์ในกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนในบางพื้นที่ อาจได้รับค่าตอบแทนที่ลดลง กรณีที่มีการปรับการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) พร้อมยื่นข้อเสนอทั้งหมด 4 ข้อ คือ (1) การคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 เหมือนเดิม (2) การปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นธรรมกับวิชาชีพอื่นๆ (3) การตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมทบทวนการกำหนดพื้นที่ (4) การยกเลิกการใช้ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน 

เมื่อได้ฟังข้อร้องเรียน น.พ.ประดิษฐ ก็ชี้แจงทันทีว่า “หลักการของระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) นั้นที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การคงบุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในชนบทเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จำเป็นคือมาตรการทางการเงิน ต้องมีมาตรการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่ได้คิดจะดึงผู้ที่มีรายได้สูงให้มีรายได้ต่ำลง แต่จะหาวิธีฉุดผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งพีฟอร์พี เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยได้” 

ที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การทำพีฟอร์พี จะเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ที่จัดให้เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 โดยให้กระทรวงสาธารณสุขไปปรับปรุงรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและเตรียมความพร้อมให้กับโรงพยาบาลชนบททุกแห่งสามารถทำพีฟอร์พีได้

และระหว่างนี้ ในโรงพยาบาลที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 อาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นก็จะต้องได้รับการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี 

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อันเนื่องมาจากความไม่พร้อมของกระทรวงสาธารณสุข หรือความไม่ชัดเจนของข้อมูลจนไม่สามารถที่จะทำได้ ก็จะได้รับการชดเชย 

ภายหลังที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน ก็จะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ 2 ประการ คือ

1) ปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคหรือไม่สอดคล้องแต่ละพื้นที่หรือระดับของหน่วยบริการให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักการที่ทุกคน “สามารถร่วมปฏิบัติได้” เพื่อพัฒนาพีฟอร์พีให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยบริการแต่ละระดับ และให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ในระบบได้ 

2) คิดมาตรการชดเชย เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตาม ฉบับ 8 และการทำพีฟอร์พี ตามฉบับ 9 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้มีการดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 

โดยคณะทำงาน จะต้องมาจากบุคลากรทุกวิชาชีพ สถานบริการแต่ละระดับ เนื่องจาก “พีฟอร์พี” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม กลับมีข่าวตามมาว่า ภายหลังการประชุมหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 แล้ว “ชมรมแพทย์ชนบท”ได้กลับไปพูดคุยกับแนวร่วม และเกิดเสียงแตกออกเป็น 2 สาย คือ “กลุ่มที่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม” และ “กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย” ซึ่งเป็นที่มาของเหตุผลการขอดูท่าทีของ น.พ.ประดิษฐ ว่าจะนำข้อสรุปดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และจะรายงานผลการประชุมหารือต่อคณะรัฐมนตรีอย่างไร และหากเกิดกรณี “บิดพลิ้ว” กลุ่มแพทย์ชนบท ก็จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในวันที่20 มิถุนายน 2556 แน่นอน

วันนี้ 11 มิถุนายน 2556 แอดมินเฟซบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” ได้ทำการโพสต์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “หลังการเจรจาวันที่ 6 แพทย์ชนบทก็ยังทำงานกับทีมเลขา เพื่อให้ได้เอกสารเข้า ครม.ที่ชัดที่สุด และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ได้เอกสารเข้า ครม.ครบและตรงตามที่ฝ่ายเราตั้งใจไว้ และมติ ครม.ก็รับทราบตามเอกสารผลการเจรจาที่นำเสนอ แต่หลังการประชุม ครม. ประดิษฐกลับกลอก ออกมาบอกแต่ประเด็นในมุมของตนเอง นำเอกสารแนบนำเข้าที่มาจากปีกกระทรวงสาธารณสุขมาชี้ประเด็น ซึ่งตรงกันข้ามกับเอกสารสรุปผลการเจรจา ตอนนี้จึงพอจะเห็นชัดแจ้งแล้วครับ ว่าคนที่หักหลังทำตัวกลิ้งกลอกคือประดิษฐ ออกมาดิ้นแถไถนอกวง ครม.คงเพราะทำอะไรไม่ได้ในวง ครม.ไม่ได้ แบบนี้เราชาวโรงพยาบาลชุมชนและเครือข่ายออกมาไล่ประดิษฐก็ถูกต้องแล้ว สงสัยว่านอกจากไปฟ้องนายกปูให้ปลดประดิษฐแล้ว ยังต้องไปชุมนุมที่หน้าบ้านประดิษฐด้วย จะได้ไปตะโกนดังๆว่า pradit get out ครับพี่น้อง” 

เห็นทีคราวนี้ คงต้องใช้สำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “Lost in Translation” หรือ ข้อมูลตกหล่น หลงทางระหว่างการตีความ จนทำให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างทางเป็นแน่ เพราะสรุปมติที่ประชุมในวันที่ 4 และ 6 มิถุนายน 2556 ทั้งหมดได้ถูกบันทึกเป็นเอกสารประกอบ1-6 ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันจันทร์ ที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการแสดงเจตนาว่า “ผู้แทนรัฐบาล” พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของ “กลุ่มแพทย์ชนบท” อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะประนีประนอมเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง “ประชาชนผู้ให้บริการ” ที่ทำงานเสียสละ และ “ประชาชนผู้รับบริการ” ผู้เจ็บป่วย ด้วยการจัดประชุมสืบเนื่อง 

ในวันนี้ (วันที่ 12 มิถุนายน 2556) เวลา 16.00 น. รมว. สาธารณสุข จะเป็นประธานเพื่อหารือในการจัดตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าเร่งทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างอายุ ขนาดโรงพยาบาล และพื้นที่ในการทำงาน และหาข้อสรุปสำหรับแนวทางในการเสนอมาตรการเยียวยา เพื่อสามารถทำหลักเกณฑ์ให้แพทย์ชนบทอยากทำพีฟอร์พีได้ก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข โดยยึดหลักประชาธิปไตย เป็นอิสระในการเลือกของแต่ละกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งหมายถึงการ “ไม่บังคับกัน”และในขณะเดียวกันไม่เกิดผลกระทบกับคนอื่นๆด้วย

การงานนี้ไม่รู้อะไรเป็นอะไร เหตุใดจึงเกิดการเข้าใจผิด แต่ที่แน่ๆ “เป็นห่วง” ว่าการ “เข้าใจผิด” ในครั้งนี้จะนำไปสู่ “การตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ของ “คนบางกลุ่ม” ที่ “ตั้งแง่เพื่อล้มรัฐบาล” โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะ“หาทางออกร่วมกัน” จริงๆ สักเท่าไร !!!

ที่มา : http://www.insidethaigov.com