ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.เรียกประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ นพ.สสจ.ทั่วประเทศ สั่งเฝ้าระวัง 'ไข้เลือดออก' หลังพบครึ่งปีป่วยแล้วกว่า 4.3 หมื่นราย ตาย 50 ราย เตรียมประสานกระทรวงมหาดไทยตั้ง 'วอร์รูม' สกัด

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมผู้ตรวจราชการ สธ. และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามเฝ้าระวังปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้มีการระบาดหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ

นพ.ณรงค์กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกยังน่าวิตก เนื่องจากปีนี้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 4 ปีที่ผ่านมา โดยพบผู้ป่วยตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน สูงถึง 43,609 ราย เสียชีวิตแล้ว 50 ราย ขณะที่ข้อมูลย้อนหลังปี 2555 พบผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันเพียง 14,045 ราย เสียชีวิต 9 ราย ปี 2554 ผู้ป่วย 16,569 ราย เสียชีวิต 12 ราย ปี 2553 ผู้ป่วย 26,185 ราย เสียชีวิต 30 ราย ปี 2552 ผู้ป่วย 17,138 ราย เสียชีวิต 16 ราย แสดงให้เห็นว่า ปีนี้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี และเพิ่มมากกว่าปี 2555 ถึง 3 เท่าตัว ที่สำคัญโรคไข้เลือดออกพบได้ในทุกกลุ่มอายุ จากเดิมที่พบเพียงเด็กเล็กเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันในวัยผู้ใหญ่เมื่อป่วยไข้ มักหาซื้อยากินเอง จนไม่รู้ตัวว่าอาจเข้าข่ายป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว มารู้ตัวก็สายเกินไป

นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า สธ.จะประสานกับกระทรวงมหาดไทย ในการตั้งศูนย์เฝ้าระวังแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก หรือวอร์รูมไข้เลือดออก ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นทำงานในระดับอำเภอให้ปลอดโรคมากที่สุด ขณะเดียวกัน ยังให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) เป็นพี่เลี้ยงให้โรงพยาบาลชุมชนเฝ้าระวังและส่งต่อผู้ป่วยไข้เลือดออก โดยได้ให้ทุกโรงพยาบาลจัดมุมไข้เลือดออก หรือคอนเนอร์เด็งกี่ (Dengue Conner) เพื่อรองรับผู้ป่วยต้องสงสัยและผู้ป่วยไข้เลือดออก ซึ่งจะทำให้สะดวกในการดูแลรักษา นอกจากนี้ ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้ยุงกัดผู้ป่วยไข้เลือดออก เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด หากยุงกัดอาจนำเชื้อไปกระจายต่อผู้อื่นได้

"ปีนี้เชื้อเด็งกี่ที่พบมากสุด คือ เชื้อเด็งกี่ 3 จากทั้งหมด 4 ชนิด ซึ่งเชื้อเด็งกี่ 3 จัดเป็นเชื้อที่รุนแรงกว่าชนิดอื่นๆ ยิ่งหากได้รับเชื้อซ้ำอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น ทางที่ดีที่สุดต้องระมัดระวังอย่าให้ถูกยุงกัด หรือหากมีอาการไข้ ที่ไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก ต้องรีบไปพบแพทย์ อย่ารอให้ไข้ลง เพราะอาจช็อกและอันตรายถึงชีวิตได้" นพ.ณรงค์กล่าว

ทางด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ล่าสุดพบว่าที่ จ.สงขลา จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เป็นพื้นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น กรมควบคุมโรคจะประสานงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เข้าไปช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 14 มิถุนายน 2556