ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้(19 มิถุนายน 2556)ที่ จังหวัดนราธิวาส นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 12 เปิดการอบรมทีมกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจัดขึ้น เพื่อพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความขาดแคลนเจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัย และเตรียมความพร้อมของหน่วยในการเผชิญเหตุ ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการ และช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ความพิการของผู้ป่วยให้ลดน้อยลง ผู้เข้าอบรมประกอบด้วย ผู้นำชุมชน หัวหน้าหน่วย อปพร. มูลนิธิภาคเอกชน และผู้ที่มีความสนใจ จำนวน 400 คน

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงใย ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เรั่ดให้มีการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่รวดเร็วทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายให้ทุกตำบลในพื้นที่มีทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพทุกระดับในระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีรูปแบบเฉพาะพื้นที่ ต่างจากพื้นที่ปกติอื่นๆการให้การรักษาพยาบาลขั้นต้นที่ถูกต้อง รวดเร็วแก่ผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เป็นเรื่องสำคัญเพื่อลดอัตราการบาดเจ็บที่รุนแรง หรือเสียชีวิตหรือพิการ

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดพัฒนาระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ให้มีความรวดเร็วขึ้น และได้ร่วมกับกองทัพบกจัดทำแผนพัฒนาระบบศัลยกรรมในภาวะบาดเจ็บร้ายแรงที่โรงพยาบาลยะลา โดยขอสนับสนุนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาระบบศัลยกรรมในภาวะบาดเจ็บร้ายแรงจากกองทัพบกและโรงพยาบาลจากส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข ฝึกอบรมทีมผ่าตัดให้โรงพยาบาลในพื้นที่ รวมทั้งมีแผนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่และโรงพยาบาลทั่วไป ให้สามารถให้บริการผ่าตัดได้ที่โรงพยาบาล เพื่อการช่วยเหลือชีวิตอย่างทันท่วงที ลดจำนวารเสียชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้จะจัดสรร แพทย์ วิสัญญี และพยาบาล ตลอดจนฉุกเฉินรถรับ-ส่งผู้ป่วยลงไปเพิ่มเติมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเบื้องต้นจะดำเนินการในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์บ่อยมากๆ และในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมรองรับการพัฒนาก่อน เช่น โรงพยาบาลบันนังสตา โรงพยาบาลรามัน โรงพยาบาลยะหา ใน จังหวัดยะลา, โรงพยาบาลรือเสาะ ในจังหวัดนราธิวาส, โรงพยาบาลโคกโพธิ์ โรงพยาบาลสายบุรี ในจังหวัดปัตตานี

สำหรับการอบรมทีมกู้ชีพกู้ภัยจะแบ่งออกเป็น 6 ฐานการฝึกอบรม ได้แก่ 1.การประเมินสถานการณ์และพื้นที่ที่เกิดเหตุแล้วรายงาน 2.การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น 3.การช่วยฟื้นคืนชีพ 4.การห้ามเลือด การดามและสิ่งที่ควรทำ 5.การเคลื่อนย้ายและจัดท่าผู้ป่วย 6.การปฏิบัติการฉุกเฉินในสถานการณ์จำลองของพื้นที่