ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน” ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก หลังชมรมแพทย์ชนบทโพสต์โซเชียลฯ อาจทำสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนปมปัญหาพ้น รมว.สาธารณสุข ไม่ได้เกี่ยว อย่าโยงสร้างความแตกแยกในกระทรวงสาธารณสุข เผย “หมอสุภัทร”  โทรศัพท์หาตน ยอมรับเขียนหวังให้กำลังใจ กำชับยุติการกระทำนี้  พร้อมแจงรายละเอียดยิบแต่ละข้อข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าถึงความในใจภายหลังเกิดกรณีเพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความลักษณะที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดถึงการพ้นจากรมว.สาธารณสุข ของตนเอง ว่า

ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณ เพจแพทย์ชนบท ที่โพสตให้กำลังใจผม และท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็มีบางอย่างที่ผมคิดว่า ข้อมูลยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก ซึ่งในสถานการณ์ที่ผมถูกออกปลดออกจากรัฐมนตรี ชมรมแพทย์ชนบทไม่ควรใช้สถานการณ์นี้ออกมาสร้างความแตกแยกในกระทรวงอีก

“ขอให้ยุติการกระทำ ซึ่ง นพ.สุภัทร (นพ.สุภัทร ฮาสุวรณณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท)  ได้โทรศัพท์มาหาผม และยอมรับว่าเขียนและให้สัมภาษณ์จากความเห็นของตนเองและคนในกลุ่ม ผมได้ติงไปแล้วว่าการพูดจากความเห็นส่วนตัวแทนผม ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลจริงไม่สมควรก็ยอมรับและขอโทษ ผมไม่อยากให้ปัญหาส่วนบุคคลลุกลามสร้างปัญหาให้ระบบ”

เรื่องที่ให้ความเห็นผ่านเฟซบุกชมรม ระบุว่า  “ระดับบิ๊กอืดยังไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยกเอาคำพูดของผมที่ รพ.อุทัย ว่า เอาข้าราชการไม่อยู่ จริงๆสิ่งที่ผมพูด คือ ท่านนายกให้รัฐมนตรีทุกคน ต้องกำกับดูแลควบคุมข้าราชการให้อยู่ให้ทำงานอย่างเต็มที่ ผมเองชื่นชมผู้บริหารและข้าราชการของกระทรวงฯทุกคนที่เร่งรัดทุ่มเท การทำงานดีมาก ให้คะแนน ก็ 80 คะแนนขึ้นไป ระดับ A+ สนองนโยบาย สำเร็จตามเป้าหมาย Quick win 100 วัน ได้ทั้ง13 นโยบาย ขับเคลื่อนเข้าสู่ Mid year succes ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมเน้นประเด็นนี้ แต่สื่อที่นำไปเผยแพร่ ตัดบางช่วงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เป็น " ผมมีผลงานระดับ A+ ผมคุมข้าราชการไม่อยู่ จึงถูกปลดออกจาก ครม." อันนี้เป็นเรื่องที่ผมต้องชี้แจง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการ น้องๆที่ทำงานในสธ. ครับ”

“ส่วนประเด็นระดับบิ๊ก อืดไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ ผมใช้ผลงานเป็นตัววัด ไม่ให้ความสำคัญ กับคำว่า "คนของใคร" ไม่ต้องมาเป็นคนของผม ขอให้เป็น "คนของประชาชน" ทำงานเพื่อประชาชน ก็พอ ไม่สนใจว่า "แมวขาวหรือแมวดำ" ขอให้"จับหนู" ได้ก็พอ”

241 วันในการทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ผมให้การสนับสนุน เรื่องการแสดงความเคารพนับถือ การเข้าพบปะเยี่ยมเยียน การดูแลสุขภาพ การเจ็บป่วยของท่าน อดีตรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวง ในเวลาและเทศกาลที่เหมาะสม และทำให้น้องๆได้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งควรกระทำ

ส่วนปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชมรมแพทย์ชนบทกับผู้บริหารกระทรวงเป็นปัญหาเดิมที่มีมาหลายปี ถ้าจำได้ เรื่องแรกๆที่ผมทำ คือ พยายามสลายความขัดแย้ง เพื่อให้ทำงานไปต่อได้ มีการเชิญทั้งผู้บริหารและน้องๆแพทย์ชนบทมาทานข้าวด้วยกันด้วยซ้ำ ผมพยายามแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย ทั้งชมรม รพศ/รพท. ชมรมนายแพทย์ สสจ. ชมรมผู้อำนวยการ รพช. ชมรมลูกจ้าง ชมรม สสอ. สภาวิชาชีพ เพื่อให้ ทุกฝ่ายมุ่งหน้า ทำงานรับใช้ บริการประชาชนให้ดีที่สุด

(ข่าวเกี่ยวข้อง: “ชลน่าน” กาวใจประสานรอยร้าว “หมอสุภัทร” และ “ปลัดสธ.” ส่วนตั้งกก.สอบวินัยยังต้องทำ!(ชมคลิป))

 

เรื่องถูกวางยาให้เป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. นับตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. สามารถทำงานกับ เลขาสปสช.ได้เป็นอย่างดี เลขาสปสช. ทำหน้าที่ในกรอบกฎหมายกำหนด ตอบสนองนโยบายเรือธง "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ขับเคลื่อนวางงบประมาณรองรับ อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน บริการทันตกรรมที่คลินิกทันตกรรม ที่เข้าร่วมโครงการได้

 

โดยนโยบายนี้ เริ่มดำเนินการ ทันที หลังแถลงนโยบาย 7 ม.ค 67 แต่การดำเนินงานจำเป็นต้องนำร่อง และขับเคลื่อน เป็นเฟส ทั้งหมด 4 (เฟส) บนพื้นฐานความพร้อม เชิงระบบเทคโนโลยี ระบบงบประมาณ และมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฟส 1 นำร่อง 4 จังหวัด เฟส 2 ขยายเพิ่ม อีก 8 จังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง จำนวน 1,200 ล้านบาท เพราะนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ จึงให้ใช้งบประมาณในแผนงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน

 

ส่วนเฟส 3 เพิ่มอีก 33 จังหวัด ตั้งงบประมาณปี 67 รองรับ เริ่มขับเคลื่อน เดือน พ.ค 67 เป็นต้นไปเฟส 4 จังหวัดที่เหลือ ตั้งงบประมาณ ปี 68 รองรับ ขับเคลื่อน เดือน ต.ค 67 เป็นต้นไป

เรื่องวางยาให้กระทรวงสาธารสุข ไปมีอำนาจในการจัดสรรเงิน ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมีกฎหมาย กฎ ระเบียบกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้ชัดเจน ว่าการจัดสรรจ่ายเงินเป็นอำนาจ หน้าที่ ของ สปสช. ตามมติบอร์ด ข้อเสนอหลายๆเรื่อง ที่บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วยถูกขับเคลื่อนและได้รับความเห็นชอบในยุคที่ผมเป็นประธาน เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เดิม เสนอเป็น Provider board : กก.ผู้ให้บริการ แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ)

 

“ชมรมแพทย์ชนบทเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนนำเรื่องนี้ไปพูดว่า สธ. อยากไปมีส่วนร่วมกับการจัดสรรเงิน ซึ่งไม่จริง จริงๆแล้วเป็นคนละส่วน คนละบทบาทหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายทำงานได้ดี ผมอยู่ตรงกลาง สธ.ลุยทำงาน สปสช.สนับสนุนเงินทำงาน เป็นเรื่องที่กำลังไปได้ดี”

 

ข้าราชการขยันเดินตาม ทุกครั้งที่ผมออกไปปฎิบัติหน้าที่ มีคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติราชการ ติดตามงานนโยบายทุกครั้ง แม้แต่กลับไปพื้นที่ ที่ จ.น่าน ผมก็ไปราชการ ไม่เคยไปเรื่องส่วนตัว ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ออกทำงานดูแลพี่น้องประชาชน ในโครงการ "พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ 6 รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค 2567 " ทุกวันหยุดสุดสับดาห์ เสาร์ อาทิตย์ โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และบุคคลากรสาธารณสุข จิตอาสา ตรวจคัดกรอง รักษา ฟื้นฟูสภาพ ติดตามดูแลโรคเฉพาะด้านเฉพาะทาง จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องติดตามไปกับผมตลอด งานหลายอย่างได้แนวคิดมาจากการปรึกษากันบนรถ ระหว่างผมและผู้บริหารเจ้าของพื้นที่ ผมสนับสนุน ให้ดำเนินการหลายเรื่องเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจความเชื่อความศรัทธาเดียวกัน เป็นพลังในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะนโยบาย ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ผู้นำศาสนา สถานชีวาภิบาล กุฏิชีวาภิบาล มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าถึง พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา

เรื่อง เกียร์ว่าง ละเลยปฐมภูมิ แก้ปัญหายาเสพติดสะดุด สาธารณสุขรากฐานไม่ก้าวหน้า กระจายอำนาจสับสน

ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ที่เกิดขึ้นก่อนผมเข้ามารับตำแหน่ง ผมเองเป็นคนที่เข้ามาจัดการแก้ปัญหา เร่งรัดให้ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเช่น ระบบปฐมภูมิ กฎหมายออกตั้งแต่ปี 2562 แต่กฎหมายลูกที่จะใช้ขับเคลื่อนยังไม่เสร็จหลายฉบับ จากปัญหาเชิงระบบ ผมมารับตำแหน่ง ก็ได้เร่งขับเคลื่อนให้มีการจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จเตรียมประกาศเพื่อใช้บังคับ เร่งรัดการขึ้นทะเบียน ผู้รับผู้ให้บริการ การกำหนดพื้นที่ กำหนดหน่วยบริการรับผิดชอบต่อไป

การบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด เป็นอีกงานที่ขับเคลื่อนได้ยาก เพราะไม่มีกฎกระทรวงรองรับ ให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่ถูกตีตรา เป็นคดี จะได้ดำรงชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ ทั้งที่มีกฎหมายประมวลยาเสพติดตั้งแต่ ปี 2564 พยายามเสนอกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาบ้า เพื่อสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เสนอ 15 เม็ด ไม่ผ่าน ครม. กลับมาทำใหม่ เสนอ 1 เม็ด ก็ไม่ผ่าน ครม. จน มาถึง รัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ครม. ให้ความเห็นชอบไม่เกิน 5 เม็ด ผมในฐานะรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม ในกฎกระทรวง ตามกฎหมายกำหนด ได้เร่งรัดใหัมีสถานบำบัด และชุมชนเป็นฐานในการบำบัดรักษา CBTx มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาถึง 70,000 คน

“ผมได้พูดกับคุณหมอสุภัทร ไปแล้วว่า การออกมาให้ข้อมูลทางสื่อSocial โดยอาศัยจังหวะที่ผมถูกปลดออกจากรัฐมนตรี เพื่อขยายความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม กล่าวหาอีกกลุ่มหนึ่ง ถือว่าไม่เหมาะสม คุณหมอสุภัทรเองก็เข้าใจแล้ว และ บอกว่า จริงๆตั้งใจจะให้กำลังใจผม ซึ่งผมก็ขอขอบคุณ แต่ให้ระมัดระวังในการเขียนเนื้อหาที่บางทีมาจากความไม่รู้ อาจจะบิดเบือน ทำให้มองได้ว่า ผมเป็นคนไม่มีความรู้ความสามารถ คุมข้าราชการไม่ได้ ถูกวางยา ทำให้งานไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งทำให้ผมเสียหาย โดยเฉพาะความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ผมจึงขออนุญาตขอชี้แจงเพื่อ ปกป้อง ไม่ให้เกิดความเสียหาย ไม่เกิดความแตกแยก และไม่ให้ผมถูกทำลายไปมากกว่านี้”

ลงชื่อ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

1พ.ค 2567