ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุตฯ ชง ครม.ยกเลิกใช้แร่ใยหิน "ไครโซไทล์" ในสินค้า 5 รายการ ปัดใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่18 มิ.ย. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ในสินค้า 5 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ1.กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นกำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบภายใน 2 ปี เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทน

2.กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรก และคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน ให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 5 ปี โดยให้เวลาปรับตัวนานกว่า เพราะยังขาดผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพและมาตรการป้องกัน

ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบให้ตามที่เสนอแล้ว กรอ.จะออกกฎหมายกำหนดแนวทางในการห้ามใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงานกำหนดชนิดคุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตในโรงงาน ซึ่งจะมีการห้ามใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีแนวคิดให้ กรอ. เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่จะห้ามไม่ให้มีการผลิตการนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง จากปัจจุบันที่อยูในวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่สามารถดำเนินการได้แต่ต้องได้รับอนุญาต แต่ กรอ. เห็นว่าควรห้ามใช้แร่ใยหินตาม พ.ร.บ.โรงงานมากกว่า เพราะหากกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะกระทบต่อผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ยังไม่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนแร่ใยหินได้ เช่น ฉนวนกันความร้อน ชุดป้องกันความร้อนพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง

"กรอ.ได้มีการศึกษาระยะเวลาการยกเลิกใช้ไปแล้ว แต่ยังมีความเห็นที่ต่างกันระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้านดังนั้น ถ้า ครม.เห็นชอบกรอบระยะเวลาครั้งนี้ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที และหลังจากนี้ภาครัฐควรเร่งรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ จะบังคับให้ภาคเอกชนปรับตัวเองไปด้วย" นายณัฐพลกล่าว

วันที่ 20 มิ.ย. นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบแร่ใยหิน ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้สมาชิกทุกประเทศแบนการใช้แร่ใยหินทันที เนื่องจากเป็นสารก่อ"มะเร็ง" ซึ่งขณะนี้มี 50 ประเทศที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 มิถุนายน 2556