ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแผนการยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ของ กรอ.แล้วและลงนามส่งเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.56 ซึ่งหลังจากนี้ สลค.จะสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จัดวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะกำหนดแนวทางยกเลิกใช้แร่ใยหินนี้ใช้กับสินค้า 5 รายการ

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวกำหนดแนวทางการเลิกใช้แร่ใยหิน 2 กลุ่ม คือ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นกำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบภายใน 2 ปี เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนหรือใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะเตรียมออกกฎหมายบังคับให้ยกเลิกใช้ในช่วงเตรียมตัว 2 ปี 2.กระเบื้องมุงหลังคาผ้าเบรกและคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 5 ปี เนื่องจากยังขาดผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของแร่ใยหินที่มีผลต่อสุขภาพและมาตรการป้องกัน รวมทั้งการยกเลิกใช้แร่ใยหินในสินค้าดังกล่าวมีผลกระทบวงกว้างต่อผู้บริโภค เศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของแร่ใยหินต่อสุขภาพจึงควรลดและเลิกใช้แร่ใยหิน แต่การยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบต้องใช้เวลาและพิจารณาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและข้อกฎหมายด้วย

หาก ครม.เห็นชอบให้ตามที่เสนอให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้ว กรอ.จะต้องออกกฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางในการห้ามใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบโดย กรอ.จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงานในการกำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตในโรงงาน ซึ่งสามารถห้ามใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตในโรงงานได้

โดยที่ผ่านมามีแนวคิดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่จะห้ามไม่ให้มีการผลิต การนำเข้าการส่งออก ปัจจุบันแร่ใยหินเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ที่การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องรับใบอนุญาต

ด้านความเคลื่อนไหว 3 สมาคมวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย และสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ได้ร่วมแถลงข่าวการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ภายหลังการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินครั้งที่ 4 โดยมี น.พ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยในแถลงการณ์เสนอให้รัฐบาลห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ทันที รวมทั้งห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ภายใน 3 ปีนับจากปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องประชาชนจากอันตรายที่เกิดจากการใช้แร่ใยหิน

ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ผู้แทนสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางสมาคมได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เพื่อดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ โดยได้มีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้งเพื่อหาข้อสรุป ทางสมาคมวิชาชีพทั้ง 3 แห่ง จึงได้หารือร่วมกันและตกลงว่าจะมีแสดงจุดยืนต่อสาธารณชนโดยยึดตามหลักฐานข้อมูลวิชาการเพื่อยืนยันว่าแร่ใยหินไครโซไทล์และแร่ใยหินทุกประเภทเป็นตัวก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและขอให้ทางคณะกรรมการฯเร่งสรุปผลที่เป็นการปกป้องประชาชน

ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และองค์กรวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศชี้ว่าแร่ใยหินทุกชนิดรวมถึงแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ อย่างมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และยังทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินหรือแอสเบสโตซิส หรือความผิดปกติของเยื่อหุ้มปอด และไม่มีการสัมผัสแร่ใยหินระดับใดที่ยอมรับว่าปลอดภัย แม้ว่าขณะนี้ในประเทศไทยจะมีรายงานพบผู้ป่วยเพียง 4 ราย แต่เชื่อว่าน่าจะมีผู้ป่วยถึง 500-1,000 ราย เพราะที่ผ่านมาไม่มีระบบในการติดตามผู้ป่วย อีกทั้งการเกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจะต้องใช้เวลา10-20 ปี ทำให้ขาดการบันทึกการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าทางคณะกรรมการฯควรเร่งเสนอผลสรุปที่เป็นการปกป้องสุขภาพประชาชน

ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ทางสมาคมขอเสนอแนะไปยังรัฐบาลเร่งดำเนินการ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาแร่ใยหินที่จะส่งผลต่อสุขภาพประชาชน คือ1.ยกเลิกใช้แร่ใยหินทุกชนิด ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ทันที และห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ภายใน 3 ปีนับจากปัจจุบัน 2.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่าแร่ใยหิน 3.ใช้มาตรการป้องกันการได้รับสัมผัสแร่ใยหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน4.ปรับปรุงการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกการรักษา การฟื้นฟู และพัฒนาระบบเพื่อเฝ้าระวังต่อไป และ 5.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน

รศ.ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทนสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กล่าวว่าเรื่องแร่ใยหินไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องเดิมที่เรื้อรังมานาน ทั่วโลกต่างทราบกันดีถึงภัยอันตราย แต่ประเทศไทยกลับมีความพยายามหาทางพิสูจน์ที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ ดังนั้น ทางสมาคมจึงออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายเพราะทางองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ต่างระบุชัดเจนแล้วว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ทุกฝ่ายจึงควรตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรเพื่อทำให้ประชาชนปลอดภัยจากอันตรายมากกว่า

 ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 28 มิ.ย. 2556--