ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอชนบทไม่สังฆกรรม "ประดิษฐ" เมินคำสั่งตั้งคณะผู้รับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงสอบสวน อภ. อัดไร้สัจจะไม่มี ความเป็นลูกผู้ชาย เหตุประดิษฐ-พิพัฒน์บิดเบือนข้อตกลงกับเครือ ข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ที่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากกรณีที่ประธานกรรม การองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงและคณะผู้รับฟังข้อเท็จจริง กรณีการสอบสวนข้อเท็จจริงและการเลิกจ้างผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา อดีตประ ธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวเนื้อหาผิดไปจากข้อตกลงที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพได้มีไว้กับนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันให้เป็นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่กลับมีคำสั่งจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. สั่งให้ประธานบอร์ด อภ. คือ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ออกคำสั่งให้เป็นคณะผู้รับฟังข้อเท็จจริงจากคณะผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่กรณี

"การที่รัฐมนตรีประดิษฐ มีคำสั่งให้มีหน้าที่เพียงเป็นผู้รับฟังข้อเท็จจริง ไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานเอกสาร หรือสืบ ค้นข้อมูลภายในขององค์การเภสัชกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการปลดนายแพทย์วิทิตได้นั้น เท่ากับว่ารัฐมนตรีประดิษฐบิดเบือนข้อตกลงในการเจรจา ชมรมแพทย์ชนบทมีไฟล์เสียงการประชุมที่ทั้งรัฐมนตรีประดิษฐ และคุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สรุปตรงกันในการเจรจาวันที่ 4 มิถุนายนว่า จะตั้งกรรมการที่มีอำนาจในการขอดูหลักฐาน เอกสาร สอบถามบุคคล หรือตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือเท็จประการใด ไม่ใช่เป็นเพียงกรรมการรับฟังการชี้แจงเท่านั้น" นพ.วชิระกล่าว

นพ.วชิระระบุว่า ชมรมแพทย์ชนบทพยายามที่จะมองโลกในแง่ดีกับรัฐมนตรีประดิษฐมาหลายหน แต่หนนี้คงตอบได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐมนตรีประดิษฐ ไม่มีความจริงใจ ไม่ใช่ลูกผู้ชายที่มีสัจจะเป็นคุณธรรม ที่ยอมเจรจาหรือยอมทำท่าจะทำตามมติการเจรจา ก็เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ไม่ได้จริงใจในการแก้ปัญหา เป็นถึงหมอถึงรัฐมนตรีหากไม่มีสัจจะก็ไม่ควรมาปกครองบ้านเมือง

ทางด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเช่นเดียวกัน ว่าคำสั่งนี้ผิดไปจากข้อตกลงที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำไว้กับเครือข่ายฯ ซึ่งเอกสารข้อสรุปที่ทางทีมงานของเลขาธิการนายกรัฐมน ตรีทำไว้ และเป็นเอกสารที่เข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ชัดเจนว่าให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่คำสั่งที่ออกมาให้ไปรับฟัง ไม่ใช่เข้าไปตรวจสอบ เพราะนั้นจะไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับคำสั่งนี้โดยสิ้นเชิง

ทางด้านนายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) เห็นว่าท้ายสุดก็จบที่ศาลอยู่ดี จึงไม่ขอเข้าร่วม การเจรจาในคืนวันที่ 4 มิ.ย. รัฐมนตรียืนยันข้อมูลและตัดสินใจของตัวเอง ทาง กลุ่มคนรักหลักประกันจึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความบริสุทธิ์ใจ

"เลขาธิการนายกรัฐมนตรียังพูดเลยว่า ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาให้ไปพิสูจน์กัน หากผิดต้องว่าไปตามผิดนะ ทุกคนรับได้หรือไม่ ทุกฝ่ายในที่นั้นก็รับคำ แต่นี่ชะลอ ประวิงเวลามาตลอด พอจะให้ตรวจสอบจริงๆ ก็ไม่ทำ ทั้งที่มาจากคำท้า วิธีการอย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์" นายระวัย กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 29 มิถุนายน 2556