ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังจาก "เดลินิวส์" นำเสนอข่าวการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอลจำนวน 148 ตัน ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตั้งแต่เดือน ก.พ.2556 จนนำไปสู่การตรวจสอบผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการคืนวัตถุดิบทั้งหมด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ล่าสุดห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) พ. (ขอสงวนชื่อจริง) ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายได้ขนย้ายวัตถุดิบทั้งหมดลงเรือส่งคืนบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีนแล้วโดยเป็นการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบลอตใหม่

ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รอง ผอ. อภ.ในฐานะรักษาการตำแหน่ง ผอ. อภ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางผู้จำหน่ายวัตถุ ดิบพาราเซตามอล ได้ทำการขนย้ายวัตถุดิบจำนวน 143.25 ตัน ลงเรือเพื่อส่งกลับประเทศจีนแลกกับวัตถุดิบลอตใหม่ โดยแจ้งว่าจองเรือได้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ปกติไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์เรือจะไปถึงประ เทศจีน ดังนั้นคงจะตรวจสอบกับ หจก. พ.ว่า จะทำการขนวัตถุดิบลอตใหม่กลับมาเมื่อไหร่ อย่างไร

ถ้าวัตถุดิบทยอยเข้ามา อภ.คงไม่ต้องไปเช่าที่เก็บ โรงงานเภสัชกรรมทหาร (รภท.) ก็สามารถนำไปผลิตได้ แต่ถ้าวัตถุดิบทั้งหมด เข้ามาทีเดียว 143.25 ตัน อภ.คงต้องเก็บ ที่คลังบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดเหมือน เดิม จากนั้นจึงค่อยทยอยส่งไปให้ รภท. ผลิต ส่วนวัตถุดิบจะทยอยนำเข้ามาหรือขน มารอบเดียวคงต้องประสานกับทาง หจก.พ.อีกครั้ง ถ้าสามารถตกลงกันได้ ก็ไม่ต้องเปลืองที่เก็บ

ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตในประเทศจีนจะต้องทยอยส่งวัตถุดิบมาให้ อภ.ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่ของเข้าประเทศจีน เพราะตามกฎหมายประเทศจีนเมื่อของเข้าไปแล้วต้องออกมาเท่าเดิมภายใน 3 เดือนจึงไม่เสียภาษี สมมุติว่าวัตถุดิบพาราเซตามอลไปถึงเมืองจีนวันที่ 1 ก.ค.นี้นับไปอีก 3 เดือนของต้องออกมาให้หมดในจำนวนเท่าเดิม

อภ.ได้พูดคุยกันว่า ถ้าบริษัทในประเทศจีนส่งของกลับมาจะงวดเดียวหรือกี่งวดก็ตามเราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปร่วมสุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ด้วย

ตอนนี้ยาพาราเซตามอลของ อภ.ไม่มีจำหน่าย เพราะตอนที่มีปัญหาเราไปสั่งเบรก รภท.ไม่ให้ผลิต เพราะเกรงว่าวัตถุดิบที่ อภ.และ รภท.มีอยู่นั้น ผลิตยาออกไปแล้วประชาชนอาจจะไม่มั่นใจ แต่ถ้าวัตถุดิบลอตใหม่เข้ามาแล้วก่อนนำไปผลิต เราจะดึง อย.มาช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพ

ส่วนกรณีที่ รภท.เคยทำหนังสือขอให้ อภ.เปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบใหม่เพราะแหล่งเดิมมีปัญหาเรื่องคุณภาพนั้น ภญ.พิศมร กล่าวว่า ถ้าเป็นวัตถุดิบพาราเซตามอลชนิดผสมเสร็จ (ดีซี เกรด) ตอนนี้มีอยู่ 2 แหล่ง ถ้าเปลี่ยน เป็นลอตใหม่ แล้ว อย.เข้าไปช่วยดูคุณภาพก็สามารถนำมาผลิตยาได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีวัตถุดิบเพียง 2 แหล่งก็มีความเสี่ยงเพราะเวลาเกิดปัญหาทำให้มีตัวเลือกน้อย และอาจถูกมองเรื่องการผูกขาด ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของ อภ.ต้องหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่ม

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า วัตถุดิบพาราเซตามอลทั้งหมดของ อภ.ถูกขนออกจากประเทศไทยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนนี้รอขาเข้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ อภ.แลกเปลี่ยนลอตใหม่กับบริษัทในประเทศจีน เมื่อวัตถุดิบลอตใหม่เข้ามา อย.จะให้เจ้าหน้าที่ด่าน หรือเจ้าหน้าที่สำนักยาไปร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับการใช้วัตถุดิบพาราเซตามอลจากบริษัทผู้ผลิตรายเดิมนั้น คงต้องดูว่า วัตถุดิบที่แลกเปลี่ยนกลับมามีความน่าเชื่อ ถือหรือไม่ ต้องยอมรับว่าปริมาณวัตถุดิบ ส่วนใหญ่ที่แลกกลับไปนั้นยังไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด จึงไม่รู้ว่ามีปัญหาคุณภาพ หรือไม่ เพราะมีการตรวจพบปัญหาเพียง บางส่วนเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเป็นวัตถุดิบเจ้าเดิมที่เคยมีปัญหาเราก็ต้องแจ้งไปว่าการนำเข้ามาต้องเข้มงวดมากขึ้น มีการสุ่มตรวจคุณภาพตามหลักสถิติ

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ได้กำชับรักษาการ ผอ.อภ.ดูการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบพาราเซตามอลให้ดี ไม่ใช่เอาเข้ามาที 3,000 ถังมากองเป็นปี เพราะวัตถุดิบที่ รภท.ต้องใช้ในการผลิตตกประมาณเดือนละ 10 กว่าตัน กว่าจะผลิตหมดต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้นต้องเจรจาว่าทำอย่างไรจะทยอยส่งวัตถุดิบมาให้ เพื่อให้วัตถุดิบใหม่เสมอและไม่มีปัญหาตกค้าง ไม่มีปัญหาความชื้น เกิดการแข็งตัว เปลี่ยนสี

ท้ายที่สุด อภ.คงต้องจ้างให้ รภท. และบริษัทเอกชนผลิตยาพาราเซตามอลให้เหมือนเดิม เพราะตอนนี้ อภ.ต้องผลิตยาตัวอื่นที่ค้างผลิตอยู่จำนวนมาก ถ้าจะผลิตคงอีกนาน จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมวันนี้ยาพาราเซตามอลจึงเข้าไลน์การผลิตไม่ได้ เราก็อยากช่วย แต่ในการประชุมบอร์ด อภ.ฝ่ายการผลิตพูดชัดเจนว่า ยังไงก็ผลิตไม่ได้ เพราะมียาค้างส่งอยู่จำนวนมาก แพ็กเกจจิ้งก็ไม่มี คือ ไม่มีไลน์การผลิตที่ว่างให้ผลิตได้เลย เฉพาะเดือนที่ผ่านมา อภ.ค้างการจัดส่งยาประมาณ 145 ล้านบาท เพราะผลิตให้ไม่ทันจริง ๆ ถ้าเป็นไปตามที่รักษาการ

ผอ.อภ.ระบุ โรงงานแมส โปร ดักซ์ชั่นจะผลิตยาได้ประมาณเดือน ส.ค. ดังนั้นยาค้างส่งในเดือน ก.ย. ต้องแก้ให้จบ ต้องไม่มีแล้ว ระบบการผลิตต้องเข้าที่โดยเร็ว

สำหรับค่าเสียหายกรณีการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล และโรงงานวัคซีน ได้ตั้งคณะกรรมการละเมิดมาตรวจสอบความเสียหายและพิจารณาค่าเสียหายแล้ว มี นพ. สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ บอร์ด อภ. เป็นประธาน ส่วนกรณียาโคลพิโดเกรล มี นพ. บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. เป็นประธาน และกรณีวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ นพ.พร เทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน เพื่อดูว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ ใครต้องรับผิดชอบ และรับผิดชอบ เท่าไหร่

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มิถุนายน 2556