ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธุรกิจร้านขายยา 1.5 หมื่นล้าน ส่งสัญญาณแข่งเดือด 2 บิ๊กเดินหน้าขยายสาขาชิงพื้นที่ "สหพัฒน์" ผนึกทุนญี่ปุ่นเปิดตัวน้องใหม่ "ซูรูฮะ" พร้อมทุ่มงบ 400 ล้าน ขยาย 20 สาขารวด ก่อนเพิ่มเป็น 100 สาขาทั่วประเทศใน 5 ปี ลั่นใช้เครือข่ายสหกรุ๊ปกรุยทางสู่ตลาดอาเซียน ทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม ขณะที่ซีพี ออลล์ มั่นใจร้านเอ็กซ์ต้าแข็ง แกร่ง มีจุดเน้นต่างกัน หลังซุ่มทำตลาดมานานกว่า 5 ปี เตรียมปล่อยแฟรนไชส์ ขยายตจว. เกาะติดร้านเซเว่น

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์  เปิดเผยว่า สหพัฒน์ร่วมกับบริษัท ซูรูฮะ (Tsuruha) ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจร้านซูรูฮะ ซูเปอร์ ดรักสโตร์  ถือเป็นอีกก้าวย่างของธุรกิจเครือสหพัฒน์ ในการขยายสู่ธุรกิจร้านขายยา โดยบริษัทมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมาย 25 สาขาในปีนี้ และเติบโตเป็น 100 สาขาภายใน 5 ปี  "การจับมือเป็นพันธมิตรครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นการขยายตลาดร้านซูรูฮะ ซูเปอร์ ดรักสโตร์ จากประเทศญี่ปุ่น สู่ธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยที่กำลังเติบโต และมีการแข่งขันกันสูงในขณะนี้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ ระหว่าง 2 บริษัทในการทำธุรกิจ พร้อมกันนี้ยังวางเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) สำหรับการขยายสาขาของร้านซูรูฮะ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย"

ผนึกสหพัฒน์ต่อยอดสู่อาเซียน

ด้านนางสาวเบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำตลาดร้านซูรูฮะ จะอาศัยจุดแข็งของความหลากหลายของสินค้าสหพัฒน์ เพื่อเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างร้านซูรูฮะไทย และที่ประเทศญี่ปุ่นกว่า 2 พันสาขา เบื้องต้นสินค้าที่นำไปจำหน่ายในร้านซูรูฮะประเทศญี่ปุ่นและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีคือมาม่า และยังมีกลุ่มแปรงสีฟัน เมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ยังมีสินค้าในกลุ่มสแน็ก ที่เตรียมทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติมด้วย

"แน่นอนว่าการจับมือกันกับซูรูฮะในครั้งนี้ เรามีเป้าหมายร่วมกันคือ การขยายสู่ตลาดเออีซี โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนในอนาคต แต่เบื้องต้นเราต้องการสร้างร้านซูรูฮะ ให้ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่ง ก่อนที่จะก้าวสู่ระดับอาเซียนต่อไป"

ชูวัน สต็อป ช็อปปิ้ง

โดยโพสิชันนิงของร้านซูรูฮะ ไม่เพียงแต่ร้านขายยาเท่านั้น แต่ยังวางร้านซูรูฮะให้เป็น ซูเปอร์ ดรักสโตร์ ที่เป็น One Stop Shopping ในแห่งเดียว ซึ่งภายในร้านประกอบไปด้วยกลุ่มอาหารเสริมและยา 25% กลุ่มเครื่องสำอาง 25-30% ขณะที่ส่วนที่เหลือจะเป็นสินค้า เบ็ดเตล็ด 45% โดยแบ่งสัดส่วนเป็นสินค้านำเข้า 30% และสินค้าภายในประเทศ 70%  นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มมุมตรวจสุขภาพเบื้องต้น มุมตรวจสภาพผิวหนังและให้คำปรึกษาด้านความงาม สินค้าหมวดการแพทย์ อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ และอุปกรณ์เครื่องครัว ห้องน้ำ อาหารสัตว์ และของใช้ในรถยนต์ เพื่อรองรับความต้องการในตลาด ซึ่งกลยุทธ์นี้ประสบผลสำเร็จในญี่ปุ่นมาแล้ว

ตั้งเป้าโกยรายได้ 300 ล้าน

ปัจจุบันซูรูฮะ เปิดให้บริการแล้ว 5 สาขา ได้แก่ เกตเวย์เอกมัย, ซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์, ซีคอน บางแค,มิดทาวน์-อโศก , สหพัฒน์ศรีราชา และสาขาเจ-พาร์ค ศรีราชา  และในครึ่งปีหลังจะขยายสาขาเพิ่มอีก 20 สาขา แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 15 สาขา และต่างจังหวัด 5 สาขา อาทิ ศูนย์การค้าพรอมเมนาดา เชียงใหม่ ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้  เป็นต้น ส่งผลให้มีสาขารวม 25 สาขาในสิ้นปี โดยใช้งบลงทุนเฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อสาขา บนพื้นที่ตั้งแต่ 100-1 พันตารางเมตร โดยในปีแรกการขยายสาขาจะอยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัง ก่อนที่จะขยายในรูปแบบสแตนด์อะโลนต่อไป โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 200-300 ล้านบาท

ผุดสาขาครบ100แห่งใน 5 ปี

นางสาวเบญจมาศ กล่าวอีกว่า แผนระยะยาวนับจากนี้คือ การมุ่งขยายสาขาให้ครบ 100  สาขาในอีก 5 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 60-70% บนพื้นที่เฉลี่ย 200-300 ตารางเมตรส่วนที่เหลือจะเป็นสาขาตามต่างจังหวัด พร้อมกับการมีรายได้ 1 พันล้านบาท

"แนวทางการทำตลาดของเราจะปรับเปลี่ยนความเหมาะสมของสินค้าตามโลเกชันที่ตั้ง  เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มชาวญี่ปุ่น กลุ่มชาวไทย ที่มีความต้องการแตกต่างกันไป โดยในเขตกรุงเทพฯจะเน้นขยายสาขาในพื้นที่โซนรถไฟฟ้า ขณะที่ต่างจังหวัดจะเป็นการขยายในพื้นที่ที่สามารถจอดรถได้สะดวก และมีพื้นที่ในการจอด"

อย่างไรก็ตามสำหรับร้านซูรูฮะสาขาล่าสุด ตั้งอยู่บนโครงการคอมมิวนิตีมอลล์ เจ-พาร์ค  ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ด้วยงบประมาณการลงทุน 20 ล้านบาท บนพื้นที่ 1 พันตารางเมตร ซึ่งเป็นโครง การคอมมิวนิตีมอลล์สไตล์ญี่ปุ่น ที่สหพัฒน์พัฒนาขึ้นเอง ด้วยงบลงทุน 200-300 ล้านบาท เบื้องต้นก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 20% ทั้งนี้คาดการณ์ว่าโครงการเจ-พาร์คจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า

รุกคืบขยายอาเซียน

นายอาคิโอ ทาคาเสะ กรรมการบริหาร บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  สำหรับการร่วมมือกับสหพัฒน์ในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายสาขาร้านซูรูฮะ นอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยบริษัทมีเป้าหมายสูงสุดในการขยายสาขาร้านซูรูฮะ ทั่วโลกให้ครบ 2 หมื่นสาขา จากปัจจุบันที่มีสาขาในญี่ปุ่นกว่า 1 พันสาขา และในไทย ทั้งนี้สาเหตุที่เลือกขยายการลงทุนในอาเซียนเป็นภูมิภาคแรก เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในส่วนของประเทศไทยมีเป้าหมายในการขยายสาขาทั้งสิ้นจำนวนหลักร้อยสาขาขึ้นไป

ขณะที่ประเทศที่บริษัทสนใจเข้าไปทำตลาดผ่าเครือข่ายจุดแข็งของสหพัฒน์ เบื้องต้น มองไว้ 3 ประเทศได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม เนื่องจากมีประ ชากรวัยรุ่นเยอะ ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพทางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก

7-11 เมินเดินหน้าขยายเอ็กซ์ต้าต่อ

ด้านนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรม การผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  (บมจ.) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเข้าเปิดให้บริการของร้านขายยาซูรูฮะ โดยสหพัฒน์นั้น เชื่อว่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะของร้านเอ็กซ์ต้า เน้นขายยาสามัญประจำบ้าน และอาหารเสริม ขณะที่ซูรูฮะ ซึ่งเป็นเชนร้านขายยาจากญี่ปุ่นนั้น ที่ญี่ปุ่นเขานิยมจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม อาทิ  เครื่องสำอาง  แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงเพื่อสุขภาพ ฯลฯ เช่นเดียวกับ วัตสัน หรือบูธในบ้านเรา ดังนั้นจึงต้องคอยดูก่อนว่าเขาจะเน้นจำหน่ายอะไร

สำหรับเป้าหมายของการเปิดร้านขายยาเอ็กซ์ต้า ก็เพื่อมีผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันจำหน่ายให้กับลูกค้าครอบคลุม ทั้งอาหาร ของใช้ รวมถึงยา ดังนั้นเอ็กซ์ต้าถือเป็นส่วนหนึ่งของร้านเซเว่น การจะขยายสาขาจึงต้องควบคู่กันไป  และการขายแฟรนไชส์ก็จะควบคู่กันไปเช่นกัน โดยร้านเอ็กซ์ต้าเองยังไม่มีนโยบายเปิดให้บริการในรูปแบบสแตนด์อะโลน

"แผนการขยายร้านขายยาเอ็กซ์ต้าในปีนี้ จะส่งเสริมให้อยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น โดยจะเป็นการขยายแฟรนไชส์ควบคู่ไปกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมให้แฟรนไชส์เซเว่น มีความแข็งแรง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด อีกทั้งเซเว่นเองก็มุ่งขยายสาขาที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น  โดยจะเสริมร้านขายยาเอ็กซ์ต้า, ร้านหนังสือบุ๊คสมายล์, ร้านเบเกอรี่และร้านกาแฟคัดสรรเข้าด้วยกัน" นายสุวิทย์กล่าวและว่า

จุดแข็งของร้านขายยาเอ็กซ์ต้าที่ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายในการขายแฟรนไชส์คือ การมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา, ความพร้อมด้านระบบการบริการจัดการ, เทคนิคด้านการบริการจัดสินค้า รวมถึงด้านการตลาดที่ซีพี ออลล์จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ทั้งนี้ปัจจุบันร้านขายยาเอ็กซ์ต้าเปิดให้บริการราว 361 สาขา โดยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั้งหมด ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ประกบเซเว่น รุกต่างจังหวัด

อย่างไรก็ดีในสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เซเว่นอีเลฟเว่นมีร้านสาขารวม  7.2 พันสาขา ทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเอง 3.3 พันสาขา และร้านแฟรนไชส์ 3.9 พันสาขา คิดเป็นสัดส่วน 45 : 55  โดยในครึ่งปีหลังจะขยายสาขาเพิ่มอีก 200-250 สาขา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทั้งร้านสาขาขนาดปกติ(2 ห้อง) และขนาดใหญ่ (3 ห้องขึ้นไป) ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีร้านขายยาเอ็กซ์ต้าเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นด้วยราว 10% ขณะที่ในสิ้นปีนี้ร้านเซเว่นจะมีสาขารวมกว่า 7.4 พันสาขา และเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นสาขาภายในปี 2561

สำหรับร้านขายยาเอ็กซ์ต้า เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2550 ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ เน้นจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ก่อนที่จะเพิ่มไลน์สินค้ายาให้มีความหลากหลาย รวมทั้งมีจุดเด่นที่มีเภสัชกรประจำร้านคอยให้คำแนะนำและปรึกษาอาการ โดย 1-2 ปีแรก ถือเป็นการทดลองทำตลาดก่อนที่จะเริ่มขยายสาขาอย่างจริงจังในร้านเซเว่น ขนาดใหญ่  จนล่าสุดมีความแข็งแกร่งและถือเป็นแบรนด์ หลักที่ถูกดึงมาขายแฟรนไชส์ในปีนี้

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดร้านขายยาเมืองไทย มีมูลค่าราว 1.4- 1.5 หมื่นล้านบาท มีการเติบโต  15-20% ต่อปี  โดยมีจำนวนเกือบ 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เป็นร้านขายยาสมัยใหม่หรือเชน ดรัก สโตร์ คิดเป็นสัดส่วน 50% อาทิ ฟาสซิโน, สยามดรักส์, ร้านขายยากรุงเทพ ฯลฯ และร้านขายยาแบบดั้งเดิม 50% จากเดิมที่สัดส่วนเชน ดรัก สโตร์จะอยู่ที่ 30% และร้านขายยาแบบดั้งเดิม 70% ในปี 2551

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 ก.ค. 2556