ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่มีข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "ยาโคลพิโดเกรล" หรือ "ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคเส้น เลือดอุดตันในหัวใจและสมอง" ซึ่งเป็นยาบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ใกล้หมดคลังยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหลือเพียงไม่กี่แสนเม็ด สำหรับจ่ายให้กับคนไข้ได้อีกประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะผู้จัดหายาแจ้งว่า บริษัทยา อ. (ขอสงวนชื่อจริง) ซึ่งเป็นบริษัทยาในประเทศอินเดียไม่สามารถส่งของให้ อภ.ได้ตามกำหนด โดยไม่แจ้งเหตุผล

คำถาม คือ ทำไมบริษัทยาอินเดียไม่ส่งยามาให้ อภ. ผู้ที่เกี่ยวข้องทำอะไรอยู่ แล้วจะหาซื้อยาจากที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ราคาเท่าไหร่ มาให้ผู้ป่วย ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการข้าราชการด้วย

ทั้งนี้ยาโคลพิโดเกรล ซึ่งเป็น "ยาซีแอล" นั้น กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ ลงวันที่ 25 ม.ค. 2550 มอบหมายให้ อภ. เป็นผู้ใช้สิทธิแทนภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ "เพื่อจัดให้มียาชื่อสามัญดังกล่าวจำนวนเพียงพอในการให้บริการแก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ เฉพาะผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และลูกจ้างของทางราชการ ทั้งนี้ไม่จำกัดจำนวนผู้ที่ใช้ยานี้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์"

จะด้วยความบังเอิญหรือโชคดีไม่ทราบ ปรากฏว่า อภ.มียาโคลพิโดเกรลอยู่ในสต๊อก 33,201 กล่อง (996,030 เม็ด) ยาทั้งหมดนี้ อภ.เพิ่งทำการแลกเปลี่ยนยาลอตใหม่กับบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย หลังจากซื้อมาเก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2553 จำนวนทั้งสิ้น 33,350 กล่อง มูลค่า 12,420,000 บาท แต่ไม่ได้จำหน่ายเพราะเกรงว่าอาจจะมีปัญหาด้านกฎหมายการละเมิดสิทธิบัตร จึงเก็บไว้จนใกล้หมดอายุ (ก.ย. 2556 ) และได้มีการเสนอบริจาคยาดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลรัฐ แต่เนื่องจากกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.)ชุดปัจจุบันไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุดจึงมีการแลกเปลี่ยนยาลอตใหม่กับบริษัท

จนกระทั่งวันที่ 10 ก.ค. 2556 ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รอง ผอ.อภ. รักษาการในตำแหน่ง ผอ.อภ. ได้ทำหนังสือถึง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เรื่องการจำหน่ายยาโคลพิโดเกรลลอตดังกล่าว ระบุว่า เนื่องจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย ได้นำยาลอตใหม่จำนวน 33,201 กล่อง (996,030 เม็ด) ขนาด 75 มิลลิกรัม มาเปลี่ยนให้กับ อภ. เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยาโคลพิโดเกรลซึ่งเป็นยาซีแอลและ อภ. สั่งซื้อจากบริษัทในประเทศอินเดียมาจำหน่ายให้กับ สปสช. ไม่สามารถส่งของได้ตามกำหนด โดย อภ. มีสัญญาซื้อกับบริษัทอินเดีย 18 ล้านเม็ด กำหนดส่งมอบงวดแรก 8 ล้านเม็ด ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2556 ทำให้ในขณะนี้ไม่มียาในระบบวีเอ็มไอ (9ender 0anaged Inventory คือ การกำหนดปริมาณสูงสุดและต่ำสุดที่จะสำรองไว้ในโรงพยาบาล) ที่ สปสช.จะจ่ายให้ต่อหน่วยบริการ สปสช.จึงแจ้งให้ อภ. เสนอราคาขายยาโคลพิโดเกรลที่มีอยู่ในราคาทุน (เม็ดละ 12.41 บาท) เพื่อที่ สปสช. จะได้พิจารณาสั่งซื้อต่อไป

การที่ สปสช.จะซื้อยาลอตดังกล่าวจาก อภ.คงมิใช่เรื่องแปลก แต่ข้อสังเกต คือ "ยาซีแอล" สปสช.เคยซื้อในราคาเพียงเม็ดละ 1 บาทกว่า ๆ ไม่ถึง 2 บาท ส่วนราคายาที่ อภ.ซื้อมาเก็บไว้ราคา 12.41 บาท แตกต่างกันหลายเท่า เรื่องนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า ถ้ายาขาดจริง ๆ ต้องหาทางซื้อให้เกิดความโปร่งใสที่สุด หากต้องซื้อยาราคาแพงกว่ายาซีแอลต้องมีเหตุผลอธิบายได้

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ได้ให้ข้อมูลรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาโคลพิโดเกรลของ "แผนงานยา" หรือ "งานกองทุนยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน" ของ สปสช. ดังนี้

1. ทางแผนงานยา ได้ดำเนินการส่งแผนการจัดซื้อยาของปี 2556 ให้กับทาง อภ.แล้ว ประมาณ เดือน ส.ค. 2555 โดยมีแผนการซื้อยาโคลพิโดเกรลในปี 2556 จำนวน 12 ล้านเม็ด มีกำหนดส่งมอบยา 2 ครั้ง ครั้งละ 6,000,000 เม็ด มีอัตราการใช้ยาเดือนละ 1,000,000 เม็ด และทางแผนงานยามีปริมาณยาสำรองอยู่ 4 เดือน (นับจากเดือน ต.ค. 2555)

2. การส่งมอบยางวดแรกจำนวน 6,000,000 เม็ด (สำหรับใช้ในเดือน ก.พ.-มิ.ย. 2556) ได้ส่ง มอบเรียบร้อยแล้วและมียาเหลืออยู่ในคลัง 300,000 เม็ด (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 2556)

3. การส่งมอบยางวดที่สองจำนวน 6,000,000 เม็ด มีกำหนดส่งมอบยา 15 มิ.ย. 2556 แต่ปัจจุบันทางบริษัทผู้ผลิตได้แจ้งขอเลื่อนการส่งมอบยาออกไปโดยไม่ได้ให้เหตุผล

4. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทาง อภ.ได้เสนอขายยาโคลพิโดเกรล ชื่อการค้า อ. (ขอสงวนชื่อจริง) แทน ซึ่งเป็นยาที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ และปัจจุบันเป็นยาที่เป็นที่ยอมรับจากโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่ง จำนวน 1,000,000 เม็ด คงค้างอีก 5,000,000 เม็ด

เพื่อให้มีผลกระทบต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด ปริมาณยาที่คงค้างนี้ ทาง สปสช. ได้เสนอให้ทาง อภ.จัดหายาชื่อการค้า อ. มาชดเชยเป็นการด่วน อย่างน้อย 3,000,000 เม็ด เพื่อป้องกันปัญหาภาวะขาดยาในช่วง 3 เดือนนี้ ทำให้ ณ ขณะนี้ สปสช. มียาอยู่ในคลัง จำนวน 1,300,000 เม็ด สามารถรองรับการจ่ายยาได้ 1 เดือน ทั้งนี้หากมีความคืบหน้า ประการใด ทางแผนงานยาจะได้นำเรียนให้ทราบต่อไป

ปัญหายาโคลพิโดเกรลขาดจ่ายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2553 เนื่องจากผลการตรวจคุณภาพยาของบริษัท ซี. (ขอสงวนชื่อจริง) ประเทศอินเดียไม่ผ่านตามเกณฑ์ สปสช.และ อภ.จึงได้ประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2553 มีข้อสรุปว่า 1. ให้เร่งการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาจากแหล่งใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการจัดซื้อไว้ล่วงหน้าแล้ว เป็นของของบริษัท อ. (ขอสงวนชื่อจริง) ประเทศอินเดีย โดยกำหนดสินค้าเข้าถึงประเทศไทยงวดแรกประมาณ พ.ย. 2553 และงวดหลังประมาณกลางเดือน ธ.ค.2553 2. ในช่วงที่รอยาจากบริษัท อ. ให้ ยืมยาจากหน่วยบริการที่มีสต๊อกคงเหลือจำนวนมาก โดยให้นำยาเข้าสต๊อกกลางเพื่อจ่ายให้แก่หน่วยบริการอื่น ๆ ที่ต้องการ และ 3. ระหว่างรอผลวิเคราะห์ยาของบริษัท อ. ให้ อภ.ซื้อจากบริษัทอื่นเพิ่มเติมจำนวน 2,000,000 เม็ด โดยทยอยซื้อครั้งละ 1,000,000 เม็ด โดยเชิญบริษัทยาที่ทะเบียนยาและมียาพร้อมจำหน่ายอยู่แล้วในประเทศไทย ซึ่งมี 2 บริษัท และได้ซื้อยาด้วยวิธีพิเศษเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2553 เป็นยาที่นำเข้าจากแคนาดา แต่ อภ.ระงับการจำหน่ายและกระจายยา เนื่องจากได้รับข้อมูลว่าอาจมีปัญหาด้านกฎหมาย จนเมื่อเดือน ม.ค. 2556 ได้รับข้อมูลแน่ชัดแล้วว่าสามารถจำหน่ายได้ไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรกับยาต้นแบบ แต่เนื่องจากยาจะสิ้นอายุในเดือน ก.ย. 2556 เหลืออายุการใช้งานต่ำกว่า 1 ปี จึงเสนอบริจาคแก่โรงพยาบาลรัฐ บอร์ด อภ.จึงทักท้วง ซึ่งก็คือยาโคลพิโดเกรล 33,201 กล่อง (996,030 เม็ด) ที่ อภ.มีอยู่ขณะนี้

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้นโยบาย สปสช. และ อภ. แก้ไขปัญหานี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดสถานการณ์คับขันแล้วอ้างว่าต้องซื้อยาในราคาแพงมาให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นเงินจากภาษีประชาชน และไม่อยากให้ สปสช. อภ. หรือกระทรวงสาธารณสุขเอาประชาชนเป็นตัวประกัน

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า ยาโคลพิโดเกรล 33,201 กล่อง (996,030 เม็ด) ที่ อภ.มีอยู่ยังไม่ได้ขายให้ สปสช. ตอนนี้ อภ.กำลังเร่งประสานงานกับบริษัทยาอินเดียว่าเกิดปัญหาอะไรจึงไม่สามารถส่งของให้ อภ.ได้ตามกำหนด ซึ่งกรณีมีเหตุล่าช้าคงต้องปรับตามสัญญา ขณะเดียวกัน อภ.ได้หาแหล่งจำหน่ายยานี้เพิ่มเติมแล้ว อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ที่ 29 ก.ค. บอร์ด อภ.จะมีการประชุมคงมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือด้วย

ท้ายนี้ต้องจับตาดูว่าผู้เกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหาอย่างไร หากต้องซื้อยาราคาแพงใครรับผิดชอบ แล้วในอนาคตจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--