ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เอ็นจีโอแรงงานนอกระบบ ” ฟ้องศาลปกครอง “ นายกปูฯ – กิตติรัตน์ รมว.คลัง – ผอ.สศค.” ละเลยหน้าที่ ส่งผลกระทบประชาชนเสียประโยชน์เหตุไม่เร่งผลักดันใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออม ปี 54 เปิดรับสมาชิกการออมภาค ปชช.

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา และ นางอรพิน วิมลภูษิต สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับพวกรวม 27 คน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานภาคประชาชนและสมาชิกศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ร่วมกันยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 กรณี ละเลยต่อหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ชอบ โดยไม่ดำเนินการเปิดให้รับสมัครสมาชิก เมื่อได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) พ.ศ.2554 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12พ.ค. 54 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้กองทุนการออมแห่งชาติ ( กอช.) เปิดรับสมาชิกหลังจาก 360 วันที่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว คือวันที่ 8 พ.ค.55 แต่มาถึงวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว

จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา สั่งผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ร่วมกันให้มีการออกกฎกระทรวง และประกาศต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการรับสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติโดยด่วน และให้ร่วมกันดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการคืนสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิก กอช.ให้กับผู้ใช้แรงงานนอกระบบด้วย ทั้งนี้ศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อพิจารณาต่อไปว่า จะประทับรับฟ้องคดีไว้เพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่

โดยนางอรุณี กล่าวว่า ที่ยื่นฟ้องครั้งนี้ เนื่องจากกรณีที่รัฐบาลไม่เปิดรับสมาชิกตาม พ.ร.บ.กองทุนการออม ฯ ถือว่าเป็นความเสียหายต่อประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบในวงกว้าง เนื่องจากมี กฎหมายตั้งแต่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. พ.ศ. 2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้โดยประชาชนสามารถสมัครสมาชิกได้ตั้งแต่ เดือน พ.ค. 2555 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้จนล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว ทำให้บุคคลที่ควรจะมีสิทธิก็เสียสิทธิ เช่น กลุ่มผู้มีอายุใกล้ 60 ปี ก็เสียโอกาสในการได้รับหลักประกัน รวมถึงกลุ่มประกอบอาชีพอิสระและกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่กว่า 12 ล้านคนซึ่งต้องเสียโอกาสในการสะสมเงินเข้ากองทุนเนื่องจากนายกิตติรัตน์ ไม่ดำเนินการ เพราะจากที่มีการประชุมพิจารณางบประมาณประจำปี 2557 นายกิตติรัตน์ ได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการตัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2557 ให้กองทุนการออมแห่งชาติ

ทั้งนี้จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เมื่อปี 2554 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปรวมทั้งหมด 7.79 ล้านคน หรือ 12.38% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็น 17.5% ในปี 2563และ 25.1% ในปี 2573 เพราะประชากรเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 31% ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุ 42% มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต แม้ว่ารัฐจะจัดสรรให้ 500 บาทต่อเดือนก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมาผู้สูงอายุจะพึ่งพิงลูกหลาน แต่อนาคตข้างหน้าจะเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ยังพบว่ามีกลุ่มแรงงานนอกระบบระหว่างอายุ 15– 50 ปีอีกว่า 18 ล้านคนจะได้ประโยชน์จากกองทุนนี้ และจะเสียประโยชน์หากรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินการ ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นต้องพึ่งพาระบบบำนาญ

 “รัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ เพราะเห็นว่าปัจจุบันมี พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในมาตรา 40 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบของภาครัฐและเอกชน สามารถส่งเงินสมทบร่วมกับภาครัฐได้ ทำให้ กระทรวงการคลังออกมาปฏิเสธกองทุนเงินออม และที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ให้ครบ 2.6 ล้านคนในปี 2556 แต่ปัจจุบันมีผู้ประกันตนเพียง 1.2 ล้านคน เท่านั้น ส่วนอีก 50 % จ่ายเงินไม่สม่ำเสมอ จึงถือเป็นความล้มเหลวในการทำให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสวัสดิการต่างตามสิทธิที่ควรได้รับ” นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนกล่าวและว่า ที่ผ่านมาเคยเดินทางไปเรียนร้องต่อรัฐบาลหลายครั้งแล้ว และไปพบนายกิตติรัตน์ 2 ครั้งแล้ว จนต้องมาพึ่งศาลปกครองและพึ่งตุลาการฯให้ช่วยดำเนินการ ขณะที่อนาคตอาจจะมีการฟ้องร้อง ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเปิดรับสมาชิกกองทุนการออมฯให้ได้ภายในปี 2556

 ที่มา: http://www.dailynews.co.th