ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันโครงสร้างอายุของประเทศกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ประชากรผู้สูงอายุไทยสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ10.7 (7 ล้านคน) ในปี 2550 เป็นร้อยละ 11.7 (7.5) ล้านบาทในปี 2553 แสดงว่าขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุไทยเพิ่มเป็นร้อยละ 20.0 (14.5 ล้านคน)  ในปี 2568  นั่นแสดงว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกวัน 13  ปีข้างหน้า

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จึงจัดทำแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่  3 (พ.ศ. 2556-2559)และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อส่งเสริมให้ครัวเรือนมีและใช้ส้วมนั่งราบ หรือมีอุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาข้อเข่า ให้ได้ร้อยละ 90 และส้วมสาธารณะ ให้ได้ร้อยละ100 ภายในปี 2559

น.พ.เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่าเนื่องจากผู้สูงอายุจะต้องเผชิญกับปัญหาจากความเสื่อมของร่างกายโดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบมากที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุหรือในวัยกลางคน ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจากสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในไทยของมูลนิธิโรคข้อฯ พบว่าปี 2549  ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมกว่า 6 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งมาจากการใช้ส้วมนั่งยองติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ หลายปี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากพฤติกรรมการขับถ่ายของเสียของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนิยมใช้ส้วมนั่งยองในครัวเรือนร้อยละ86.0 สำหรับการใช้ส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาร้อยละ 13.2 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2553

และจากการสำรวจล่าสุดของกรมอนามัยเมื่อเดือนธันวาคมปี 2555 พบว่า ประชาชนคนไทยร้อยละ 67.1 ต้องการให้ส้วมสาธารณะมีโถส้วมนั่งราบ โดยส้วมสาธารณะที่ประชาชน เลือกใช้บริการมากที่สุด 3 อับดับแรก ได้แก่ ปั๊มน้ำมันร้อยละ 46.0 แหล่งท่องเที่ยวร้อยละ 39.4 และสถานีขนส่งทางบกและทางอากาศร้อยละ 36.5 ซึ่งเป็นข้อมูลสถานการณ์ที่สอดคล้องกันกับโครงสร้างประชากรของไทยและรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น  ดังนั้น การมีสุขภาพดีควรเริ่มต้นจากที่บ้าน และเพื่อเป็นการชะลอและลดการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมของผู้สูงอายุ และการมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องของเยาวชน การให้ความสำคัญกับส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาภายในบ้าน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และสถานที่สาธารณะ ได้แก่ปั้มน้ำมัน แหล่งท่องเที่ยว สถานีขนส่ง เป็นต้น จะต้องจัดบริการส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาที่ได้มาตรฐานไว้บริการเช่นเดียวกัน

"กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างส้วม 100% จนประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันครัวเรือนไทยมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 98.1 และพัฒนาส้วมสาธารณะไทยในกลุ่มเป้าหมาย 12 กลุ่มเป้าหมายได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 62.45"

และล่าสุด "โฮมโปร" ผู้นำธุรกิจศูนย์รวมวัสดุ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านครบวงจร และอเมริกันสแตนดาร์ด ลิกซิล กรุ๊ป แบรนด์สุขภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ตอบรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขผลักดัน เปลี่ยนส้วมเพื่อผู้สูงอายุที่คุณรัก ในโครงการ "สุขภัณฑ์เพื่อแม่"

โดย ณัฏฐ์ จริตชนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มการตลาดบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ "โฮมโปร"กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด ลิกซิล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ในการตอบสนองนโยบายของภาครัฐบาล โดยเฉพาะกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายในการพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้มีส้วมได้มาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับปัญหาจากความเสื่อมของร่างกายโดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งจากการใช้ส้วมนั่งยองติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ หลายปี ซึ่งที่ผ่านมาโฮมโปรได้มีส่วนสนับสนุนโครงการดังกล่าวร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์เปลี่ยนส้วมนั่งยอง เป็นส้วมนั่งราบมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 โดยได้จัดสุขภัณฑ์ (ส้วมนั่งราบ) มาจำหน่ายในราคาพิเศษกับแบรนด์ต่างๆ ตลอดทั้งปี

"ในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็น "วันแม่แห่งชาติ" ที่คนไทยทุกคนจะแสดงความกตัญญู และความรักที่มีต่อแม่ บริษัทจึงได้ร่วมกับบริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด ลิกซิล กรุ๊ป จัดโครงการ"สุขภัณฑ์เพื่อแม่" ในวันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2556 โดยนำสุขภัณฑ์ห้องน้ำทั้งหมด 6 รุ่นมาจัดรายการพิเศษ โดยมีโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ และราวจับ ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะโถสุขภัณฑ์ ที่ถูกออกแบบระดับการนั่งให้สูงขึ้นเท่ากับมาตรฐานของเก้าอี้ ให้ลุกนั่งสบาย และมี Antibac ผสานอยู่ในเนื้อสุขภัณฑ์ ป้องกันและยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และระงับกลิ่นไม่พึงประสงค์ ประหยัดน้ำ เลือกชำระได้ทั้ง 3 และ 4.5 ลิตร ในตัวเดียวกัน และประหยัดน้ำสูงสุดถึง 50%"

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 - 6 ส.ค. 2556--