ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ส่อเค้าว่าจะเป็นเรื่องวุ่นวายอีกครั้งสำหรับการยกเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เห็นว่าเป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 จึงให้โอน กอช.เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประกันสังคม โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่25 มิ.ย. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเทศของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนไปแล้ว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนเงินออมแห่งชาติ มีที่มาจากการที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2551 เห็นชอบให้ผลักดันกฎหมายการออม เพื่อเป็นกองทุนดูแลหลักประกันยามชราภาพแก่ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ ซึ่งกระบวนการร่างกฎหมายผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผลักดันออกเป็นกฎหมายในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2554

หลังจากมีผลบังคับใช้แล้วจะต้องจัดตั้งกองทุนและเปิดให้ประชาชนมาออมภายใน 1 ปี ตามกำหนดคือช่วงกลางปี 2555 แต่เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยมาทำงานไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดำเนินการยกเลิก กอช.เสีย

อย่างไรก็ดี การยกเลิกกฎหมายทำได้หลายวิธี แต่สศค.เห็นว่าควรจะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน และนำเสนอให้ทางฝ่ายการเมืองเพื่อนำเสนอไปยังครม.ให้เสนอยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนเงินออมแห่งชาติ ไปยังรัฐสภาตามขั้นต่อการยกเลิกกฎหมาย

ดังนั้น เมื่อวันที่15 ส.ค.ที่ผ่านมา สศค.ได้เปิดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 (พ.ร.บ.กอช.) ที่เว็บไซต์ http://www.fpo.go.th มีกำหนดให้ประชาชนและผู้ส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 21 ส.ค. 2556 หรือเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี เช้าวันที่ 16 ส.ค. 2556 แบบสอบถามเรื่องการยกเลิกพรบ.กอช.ก็ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ดังกล่าว สร้างความงุนงงให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต้องการแสดงความคิดเห็น และเมื่อสอบถามไปยังสำนักนโยบายการออมและการลงทุนของ สศค. ได้รับคำตอบว่ามีความผิดพลาดทางเทคนิคจึงถอดแบบสอบถามออกมา และเตรียมนำแบบสอบถามขึ้นเว็บไซต์อีกครั้งในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ จะชดเชยเวลาการทำแบบสอบถามให้ครบ 1 สัปดาห์ตามกำหนดเดิมที่วางไว้

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเทศของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน เพื่อสนับสนุนการออมของกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มเกษียณอายุ ได้เพิ่มทางเลือกที่ 3 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม คือ ให้สิทธิเงินบำนาญชราภาพแก่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งในระบบประกันสังคม มาตรา 40 มีหลักการจัดเก็บเงินสมทบจาก 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกันตนและรัฐบาล ในอัตราเดือนละ 200 บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 100 บาทและรัฐบาลสมทบ 100 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ดี กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ได้ล่ารายชื่อสส.พรรคประชาธิปัตย์ 131 คน ยื่นถอดถอนกิตติรัตน์ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ไปแล้ว ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ จงใจใช้อำนาจขัด พ.ร.บ.กอช. และเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ตามมาด้วยวันที่ 29 ก.ค. กลุ่มแรงงานยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กิตติรัตน์ และสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่ไม่ดำเนินการเปิดให้รับสมัครสมาชิกตามพ.ร.บ.กอช. ซึ่งศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งลงมาว่าจะรับคำฟ้องในเรื่องนี้หรือไม่

สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.ยุบเลิก กอช.มีผลบังคับใช้ เท่ากับเป็นการล้มล้างคำร้องของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชนทันที

การยกเลิก กอช.ของรัฐบาลจะทำได้เร็วหรือช้าศาลปกครองเป็นผู้เดียวที่จะชี้ขาด หากรับคำฟ้องของภาคประชาชน กระบวนการที่กระทรวงการคลังทำอยู่ก็จะหยุดชะงักลงชั่วคราว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 สิงหาคม 2556