ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ประกอบการกลุ่มสุขภาพและเครื่องสำอาง รวมทั้งตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าไทย เพื่อผลักดันมูลค่าส่งออกสินค้าและพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการกลุ่มดังกล่าวให้ตรงความต้องการของตลาด

โดยพบว่า มูลค่าสินค้าและบริการทางการแพทย์และสุขภาพทั่วโลกเมื่อปี 2555 มีมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านบาท ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนแบ่งตลาดเป็นมูลค่าราว 270,000 ล้านบาท หรือราว 15.5% ของมูลค่ารวมสินค้าในกลุ่มนี้ทั่วโลก ขณะที่ไทยครองอันดับ 1 ในอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดที่ 40% ของมูลค่ารวมในภูมิภาค รองลงมาเป็นสิงคโปร์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดราว 32%

ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า จุดเด่นธุรกิจนี้ของไทย คือ เรื่องแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรไทย รวมทั้งการนวดแผนไทยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ยังขาดการพัฒนาสินค้าและบุคลากร ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการไปสอบถามความต้องการบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อจะได้จัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรป้อนให้ตรงตามความต้องการของตลาด

ขณะที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้เข้าไปช่วยผู้ประกอบการด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น ส่วนกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยดูแลเรื่องกฎหมายสากล ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ)โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสมุนไพรไทย

สั่ง สธ.-วิทย์ พัฒนาห้องวิจัยหนุน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และสมุนไพรไทย โดยการพัฒนาห้องวิจัยให้สามารถรองรับ การตรวจสอบคุณภาพ และประสิทธิภาพเครื่องสำอางและสมุนไพร ว่า มีผลดีต่อการใช้อย่างไร ขณะเดียวกัน ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำผลงาน วิจัยที่มีอยู่มาจับคู่กับภาคเอกชนในการผลิตสินค้า เชิงพาณิชย์ตามความต้องการของตลาด เพื่อ ยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

โดยได้แนะนำการทำตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและเครื่องสำอางให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าในปี 2050 ประชากรของโลก 1 ใน 3 จะเข้าสู่วัยสูงอายุจึงจะเป็นตลาดที่เติบโตได้อีกมาก

สำหรับการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสินค้าความงาม ผู้ประกอบการยกตัวอย่างการนำข้าวมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง โดยสามารถเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายข้าวได้ถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความสนใจและมอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมการข้าวศึกษาการเพิ่มมูลค่าข้าวทั้งระบบ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำข้าวพันธุ์ดีของไทยไปสู่การแปรรูปเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางมากขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะนัดหมายภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อติดตามความคืบหน้าในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ยันไม่ยกเว้นภาษีฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสข่าวที่กระทรวงการคลัง จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งรวมถึงเครื่องสำอางที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย โดยหากมีการยกเว้นภาษีนำเข้าจะกระทบกับการจำหน่ายเครื่องสำอางที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงกับภาคเอกชนที่ร่วมประชุมว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ขอให้ภาคเอกชนสบายใจได้

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะเว้นภาษีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย ที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยมาแล้ว ซึ่งไม่ได้ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากนัก

"ถ้าภาครัฐต้องการจะส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการจำหน่ายสินค้าราคาถูกควรส่งเสริมการขายสินค้าในรูปแบบการปลอดภาษีในพื้นที่ที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่าดิ้วตี้ฟรี (duty free) จะมีความเหมาะสมมากกว่า"นายเจน กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กันยายน 2556