ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์-พยาบาล 3 จังหวัดใต้ขาดแคลนหนัก แนะเพิ่มรายได้หนุนสวัสดิการ ป้องกันสมองไหลช่วงเปิดเออีซี

ผศ.จิรพรรณ พีรวุฒิ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคใต้ เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปัจจุบันการผลิตวิชาชีพพยาบาลของภาคใต้ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เพียงพอ ทำให้บุคลากรวิชาชีพพยาบาลของภาคใต้ต้องทำงานหนัก จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการดูแลพยาบาลที่ทำงานในภาคใต้ โดยการขยายโอกาสเพิ่มเติมความรู้ทางโทรทัศน์ดาวเทียม การศึกษาดูงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ให้สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงทักษะด้านภาษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากพยาบาลได้รับการดูแลในด้านสวัสดิภาพและขวัญกำลังใจ จะลดปัญหาสมองไหลออกไปต่างประเทศเมื่อเปิดเออีซี และมีคุณภาพทางการพยาบาลที่ได้มาตรฐานและการบริการทางการพยาบาลที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ภาวะพยาบาลวิชาชีพและแพทย์สาขาต่างเคลื่อนย้ายลาออกมีมาตั้งแต่ปี 2552-2555 ประมาณ 300 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2556 ในส่วนแผนกของตนลาออกไปแล้ว 3 คน และยังมีแผนกอื่น ๆ เตรียมทยอยลาออกอีก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญคือไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ จึงไม่มีมูลเหตุจูงใจ เนื่องจาก มอ.เป็นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว

"นักศึกษาแพทย์ พยาบาล จาก มอ.เป็นที่ยอมรับของคุณภาพในการผลิต และมีแนวโน้มว่าเมื่อเปิดเออีซีจะมีการเคลื่อนย้ายลาออกที่สูงมากกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายที่ประเทศมาเลเซีย บรูไน เนื่องจากได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก"

แหล่งข่าวยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มอ. สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความพยายามรณรงค์และยื่นหนังสือถึงรัฐบาลกว่า 10 ครั้ง เพื่อเข้าบรรจุเป็นข้าราชการในระบบตามความต้องการของแพทย์ พยาบาล แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน โดยล่าสุดได้รับ คำตอบว่า นโยบายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบได้ รวมทั้งการเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบทำให้การบริหารมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ผู้เรียกร้องจึงต้องยุติการเคลื่อนไหว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 4 ก.ย. 2556--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง