ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทย์นักวิจัยไทย คว้ารางวัล 'อิก โนเบล'จากผลงานผ่าตัดเชื่อม ต่ออวัยวะเพศชายสืบเนื่องจากเหตุภรรยาโกรธแค้นสามีนอกใจ แล้วตัด 'เจ้าโลก' ทิ้ง แต่หมอไทยผ่าตัดเชื่อมต่อกลับมาได้ถึง 18 คน มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารศัลยกรรมสหรัฐ เมื่อปี 2526 เผยรางวัล อิก โนเบล ก่อตั้งเมื่อปี 2534 เป็นเวทีล้อเลียนการให้รางวัล 'โนเบล' ยกย่องงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใคร แต่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลการประกาศรางวัล อิก โนเบล (Ig Nobel) ซึ่งเป็นเวทีล้อเลียนรางวัลโนเบล โดยเป็นการให้รางวัลแก่งานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สุดพิลึกจากทั่วโลก ประจำปีพ.ศ.2556 ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา

ผลปรากฏว่าทีมศัลยแพทย์จากประเทศ ไทยได้รับรางวัล อิก โนเบล สาขาสาธารณสุข เป็นครั้งแรก จากงานวิจัยเรื่องการผ่าตัดเชื่อมต่ออวัยวะเพศชายในประเทศ ไทย โดยทีมคณะแพทย์ ประกอบด้วย ศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์ นพ.ชุมพร พงษ์นุ่มกุล นพ.อนันต์ ตัณมุขยกุล นพ.กฤต โกมารทัต นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และ ดร.เฮนรี่  ไวลด์ ที่ปรึกษาของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ คณะกรรมการระบุมีใจความตอนหนึ่งว่า อวัยวะเพศชายสามารถผ่าตัดรักษาได้ แต่หากอวัยวะเพศชายถูกตัดให้เป็ดกินแล้วจะไม่สามารถต่อได้อีก

สำหรับงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารศัลยกรรมสหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 146 ปีพ.ศ.2526 โดยระบุว่าในช่วงปีดังกล่าวเกิดเหตุภรรยาชาวไทยตัดอวัยวะเพศสามีบ่อยครั้ง เนื่องจากโกรธแค้นที่สามีเจ้าชู้ ทีมวิจัยจึงศึกษาการผ่าตัด เพื่อเชื่อมต่ออวัยวะเพศชายของคนไข้ที่ประสบเหตุจากกรณีดังกล่าว จำนวน 18 คน และเป็นผลการวิจัยที่ต่อยอดจากงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปีพ.ศ.2511

โดยหนึ่งในคณะทำงานคือ ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์และอุบัติเหตุ เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่ 15 ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ต่อเนื่อง 2 สมัย

รายงานข่าวระบุว่า รางวัล อิก โนเบล เป็นเวทีล้อเลียนการให้รางวัลโนเบล ริเริ่มโดยนาย มาร์ก อับราฮัมส์ บรรณาธิการ และผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารและเว็บไซต์ "อิมพร็อบเบเบิ้ล รีเสิร์ช" ตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 มุ่งให้รางวัลกับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร การมอบรางวัลอิก โนเบล จะมีขึ้นทุกเดือนต.ค.ของปี ปีละ 10 รางวัล ตามวิทยาศาสตร์แต่ละสาขาแบบเดียวกับรางวัลโนเบล ได้แก่ด้าน ฟิสิกส์ เคมี จิตวิทยาหรือการแพทย์ วรรณคดี สันติภาพ และเพิ่มด้านสาธารณสุข วิศวกรรม ชีวภาพ และสหศาสตร์

การมอบรางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติให้กับความสำเร็จของงานวิจัย ที่เห็นครั้งแรกก็ทำให้หัวเราะ แต่นำมาคิดต่อในภายหลัง เช่น มีงานวิจัยในสาขาเคมี ที่ว่าเอนไซม์ในหัวหอมทำให้คนร้องไห้ หรืองานวิจัยในสาขาความน่าจะเป็นว่า หากวัวนอนเยอะ ก็มีความน่าจะเป็นที่ลุกขึ้นเยอะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลงานดังกล่าวแม้จะแปลก แต่ก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ได้จริง เช่น รางวัลอิก โนเบล สาขาชีววิทยา ปีพ.ศ.2549 ในงานวิจัยที่ระบุว่ายุงที่มีเชื้อมาลาเรีย ชื่นชอบกลิ่นชีสลิมเบอร์เกอร์ และกลิ่นเท้าคนเป็นพิเศษ จากผลวิจัยดังกล่าวสามารถนำชีสชนิดดังกล่าวไปใช้ในการหลอกล่อยุงในประเทศแถบแอฟริกา ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้มาลาเรียได้อีกด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 14 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง