ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -หากเอ่ยถึงปัญหาการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป(อียู) หลายคนอาจไม่เห็นภาพมากนัก เนื่องจากกรอบเจรจาค่อนข้างกว้าง แต่หากพูดถึงผลกระทบในกรณีที่มีการเจรจาเปิดการค้าเสรีสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ อาจเห็นภาพมากขึ้น

ยิ่งกรอบการเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู ที่เตรียมจัดขึ้นรอบ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556  ที่โรงแรมเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ ก็ยิ่งถูกจับตามอง เห็นได้จากการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทั้งกลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch  มูลนิธิชีววิถี องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ รวมไปถึงองค์กรงดเหล้าต่างๆ ประกาศรวมตัวกันระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนี้ ที่ลานท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เพื่อติดตามการเจรจาดังกล่าว

ซึ่งเนื้อหาในการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับคนไทยโดยตรง  มีทั้งเรื่องการขยายสิทธิบัตรยา ปัญหาการผูกขาดพันธุ์พืช ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยา และผลกระทบกรณีเปิดเสรีเครื่องดื่มน้ำเมา และบุหรี่   โดยประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ถือเป็นสินค้าอันตราย และเป็นหนึ่งในกรอบเจรจาที่ภาคประชาชนกังวล เนื่องจากไม่มีการพูดถึงในการเจรจา แต่มีโอกาสถูกหยิบยกมาโดยที่ไม่รู้ตัวได้

ยืนยันได้จาก “ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือและแสดงความเห็นไปยังกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ก็เคยเชิญทางสำนักงานฯ ไปให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งได้ยืนยันไปแล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าอันตราย ฆ่าคนได้มากกว่าอาวุธเสียอีก แต่กลับถูกจัดเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ แต่ยังดีที่มีการกำหนดเวลาจำหน่าย ปัญหาคือ หากมีการเปิดให้เป็นสินค้าเสรีเมื่อใด ทุกอย่างก็จะเสรี ทั้งการดื่ม การจำหน่าย นักดื่มหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“ประเด็นน่ากังวลที่สุด คือ เมื่อเหล้าถูกจัดเป็นสินค้าเสรีจริงๆ จะส่งผลต่อการออกกฏหมายของไทยแน่นอน  เหมือนกรณีขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 แต่กลับถูกธุรกิจบุหรี่ยื่นฟ้อง จนต้องชะลอการประกาศใช้กฎหมายนั้น ก็เป็นสัญญาณว่า หากมีการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นเหล้า หรือบุหรี่ ย่อมมีผลต่อการออกกฎหมาย เพราะขนาดไม่เปิดเสรี พวกธุรกิจบุหรี่ยังไม่ยอมขนาดนี้เลย” นายสงกรานต์ กล่าว

อย่างกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อมีการเปิดเสรี มีความเป็นไปได้ที่จะยื่นฟ้องกฎหมายย้อนหลัง คือ การห้ามโฆษณาเหล้าในสื่อต่างๆ เพราะเมื่อเข้าสู่กรอบการเจรจาเอฟทีเอ ย่อมถูกจัดเป็นสินค้า ประเด็นห้ามโฆษณาก็อาจเข้าข่ายขัดขวางการเปิดเสรีได้อีก  ซึ่งหากไม่ยอมก็จะมีการฟ้องร้อง โดยไม่ใช่แค่ธุรกิจกับรัฐบาลไทย แต่จะเป็นระดับประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่ของยุโรป เนื่องจากคนไทยนิยมดื่มเหล้านอกมาก หากมีกฎหมายควบคุมในขณะที่เปิดเสรีการค้า ฟากฝั่งธุรกิจย่อมไม่ยอมแน่ๆ สุดท้ายจะกลายเป็นการฟ้องร้องในระดับอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจากประสบการณ์หลายๆประเทศและหลายๆกรณี ธุรกิจมักชนะ เนื่องจากจะดึงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเสรีก็มักจะเข้าใจและมีประสบการณ์ตรงในข้อพิพาทต่างๆ โอกาสที่ไทยจะชนะก็น้อย เพื่อเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่มีการเปิดเสรีสินค้าเหล่านี้เด็ดขาด

ขณะที่ “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ความเห็นถึงกรณีธุรกิจบุหรี่ยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จากร้อยละ 55  เป็นร้อยละ 85 กระทั่งมีคำสั่งชะลอชั่วคราว ว่า จริงๆเรื่องนี้เป็นคนละประเด็นกับเอฟทีเอ เนื่องจากส่วนใหญ่บุหรี่ที่นำเข้าไทยจะมาจากกลุ่มเอเชีย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถเปิดเสรีสินค้าบุหรี่ได้ เพราะขนาดบุหรี่นำเข้าจากเอเชียยังมีปัญหาขนาดนี้ หากมีการเปิดเสรีการค้าในกลุ่มประเทศยุโรปจะยิ่งมีปัญหามาก

“เรายืนยันมาตลอดว่า ไม่ควรให้บุหรี่อยู่ในการเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู ควรอยู่ในกติกาขององค์การค้าโลก หรือ WTO เพียงพอแล้ว เนื่องจากกำหนดชัดให้ประเทศต่างๆที่อยู่ในกรอบWTO สามารถออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ที่เข้มงวดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ แต่หากมีเอฟทีเอ จะมีประเด็นเรื่องการลงทุนเข้ามา ซึ่งจะมีการกำหนดเงื่อนไขที่ธุรกิจบุหรี่สามารถฟ้องรัฐบาลหากคิดว่ากฎระเบียบที่ออกมา กระทบต่อผลประโยชน์ของตน โดยจะฟ้องไปที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแทน การฟ้องศาล หรือฟ้ององค์การค้าโลก” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

เรื่องนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เคยเชิญทางมูลนิธิฯ เข้าไปให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยทางมูลนิธิฯ ได้ยืนยันขออย่าให้มีการนำบุหรี่เข้าไปในกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กันยายนนี้ ที่จ.เชียงใหม่ เบื้องต้นกรมเจรจาการค้าฯ ระบุว่า จะไม่มีการหารือประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ จะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้  หน่วยงาน อย่างสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล นำโดยนายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชน ยังมีการประชุมใหญ่ของสภาฯ เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ระบุให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนดำเนินการเรื่องต่างๆ  เช่น  ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการจัดทำนโยบายสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้เกี่ยวกับเรื่องเอฟทีเอ ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ทำหนังสือถึง  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู    1.ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมรับทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ

2.การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ  3.ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร 4.ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า และ5.ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล

ทั้งหมดคือ ท่าทีของภาคประชาชน และเอ็นจีโอด้านสุขภาพต่อประเด็นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่ ซึ่งถือเป็นสินค้าอันตราย ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน  ด้วยเหตุนี้ สมควรหรือไม่ที่สินค้าดังกล่าวจะไม่ควรอยู่ในกรอบการเจรจาด้านการลงทุนทั้งหมดทั้งปวง