ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - โรงพยาบาลจุฬารัตน์ เตรียมเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาล 1-2 แห่ง ชงบอร์ดพ.ย.นี้ คาดได้แผนชัดเจนปีหน้า ยันเป้ารายได้ปีนี้ 2 พันล้านบาท ระบุครึ่งปีหลังเป็นไฮซีซัน-ศูนย์โรคหัวใจเพิ่มจุดเด่น ขณะที่กรุงเทพดุสิตฯจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้น"รัตนเวช" หุ้นละ 127.22 บาท

หลังจากบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG ได้เข้าระดมทุน 1,300 ล้านบาทผ่านตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาปรากฏว่า บริษัทยังมีเงินจากการระดมทุนในครั้งนั้นเหลืออยู่ 400 ล้านบาท ส่งผลให้โรงพยาบาลมีแผนที่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนซื้อกิจการโรงพยาบาล เพื่อเข้ามาเป็นเครือข่ายของกิจการบริษัท

ดังนั้นนายกำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG จึงเตรียมนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ในช่วงเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาล 1-2 แห่งและคาดจะได้ความชัดเจนและรายละเอียดของแผนการดังกล่าวในปี 2557 แหล่งเงินทุนมาจากเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังมีอยู่ และหากเป็นการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ ก็สามารถใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้

"ตอนนี้เราได้ว่าจะมองซื้อกิจการโรงพยาบาล 1-2 แห่ง แต่เป็นที่ไหนยังบอกไม่ได้ คาดหลังปิดงบไตรมาส 3 ช่วงเดือน พ.ย.จะมีการเข้าหารือกันในบอร์ดถึงแนวทางต่างๆ และปีหน้าคงเห็นเป็นภาพขึ้นมาว่าจะเป็นที่ไหน ใช้เงินเท่าไหร่ ปัจจุบันบริษัทยังมีเงินเหลือจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ราว 400 ล้านบาท และบริษัทไม่มีหนี้ ซึ่งหากเป็นดีลขนาดใหญ่ก็สามารถกู้จากสถาบันการเงินได้"

ปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อนประมาณ 20% พร้อมกันนี้ยังมั่นใจว่ากำไรสุทธิของบริษัทปีนี้จะทำได้ที่ระดับ 400 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมีกำไร 180 ล้านบาท และรายได้ 1,037 ล้านบาท

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นฤดูกาลของธุรกิจที่จะมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการมากในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 นอกจากนี้ ยังมีรายได้ในส่วนของศูนย์โรคหัวใจซึ่งเป็นจุดเด่นที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ความคืบหน้าการสร้างโรงพยาบาลแห่งที่ 11 ในจังหวัดปราจีนบุรี มูลค่าโครงการ 325 ล้านบาท จำนวนเตียงมากกว่า 100 เตียง ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเฟสแรก และเปิดให้บริการในแผนกฉุกเฉินได้ภายใน 1 ปีจากนี้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จแบบครบวงจรในปี 2558

ทั้งนี้ล่าสุดบริษัทได้ลงทุน 30 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรรักษามะเร็งรุ่นใหม่ล่าสุด ไฮฟูนิท 9000 ซึ่งเป็นเครื่องมือรักษามะเร็งระยะลุกลามที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยจะใช้พลังงานจากคลื่นอัลตร้าซาวนด์ผ่านผิวหนังสู่ตำแหน่งก้อนมะเร็ง โดยจะติดตั้งที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 ซึ่งจะใช้เวลาติดตั้ง 2 สัปดาห์ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้

บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลัง คาดว่ากำไรจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของอุตสาหกรรม ส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีโอกาสทำสถิติสูงสุด โดยภาพรวมปี 2556-2556 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตเฉลี่ย 17% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงพยาบาลที่ 15% ทั้งนี้ประเมินว่าระยะยาว บริษัทจะเติบโตต่อเนื่อง ตามแผนการขยายพื้นที่ให้บริการ รพ.จุฬารัตน์ สาขา 3,9,11 และเตรียมสร้าง รพ. แห่งใหม่ที่ปราจีนบุรี รองรับการเติบโตของชุมชนเมืองและเขตอุตสาหกรรม ในขณะที่ราคาหุ้นปรับลดลง 21% จากจุดสูงสุดในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา จึงมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน

ขณะที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ว่า จะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 3.64 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นของโรงพยาบาลรัตนเวชทั้งสิ้น 22 ราย ในราคาหุ้นละ 127.22 บาท โดยกำหนดชำระเงินค่าหุ้นในวันที่ 8 ต.ค.ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับเงินทั้งสิ้น 462.67 ล้านบาท

การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นโรงพยาบาลรัตนเวช เนื่องจากก่อนหน้านี้โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ  ได้เข้าซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดของโรงพยาบาลรัตนเวช และได้กำหนดว่าภายหลังการซื้อและรับ โอนกิจการดังกล่าวแล้ว บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ โรงพยาบาลรัตนเวช

ทั้งนี้ กรุงเทพพิษณุโลกและรัตนเวช ได้บรรลุข้อตกลงการโอนและรับโอน กิจการและได้ลงนามในสัญญาโอนกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้การโอนกิจการมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการมีโรงพยาบาลภายใต้แบรนด์โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และยังมีโรงพยาบาลในต่างประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 27 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง