ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผนึกกำลังองค์กรต่าง ๆ จัดตั้งสมาพันธ์เครือข่ายเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เพื่อเป็นพันธมิตร ที่จะร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เริ่มงานแรกเดินหน้าปกป้องนโยบาย เรื่องการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ จากการถูกล้มโดยบริษัทบุหรี่

ศ.พญ.สมศรี  เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ได้พยายามสกัดกั้นมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของกระทรวงสาธารณสุข โดยดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองให้ทุเลาและยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% นั้น องค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านควบคุมการบริโภคยาสูบเล็งเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัทบุหรี่ เป็นการแทรกแซงนโยบายสาธารณะที่มุ่งปกป้องสุขภาพของประชาชน และหากบริษัทบุหรี่แทรกแซงสำเร็จ กรณีนี้จะเป็นตัวอย่างที่ไปเปิดช่องให้มีการแทรกแซงนโยบายในประเด็นสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคต ดังนั้น เพื่อร่วมกันปกป้องนโยบายสาธารณะ และมาตรการที่มุ่งปกป้องสุขภาพของประชาชน อีกทั้ง เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เหล่าแพทย์ที่ทำงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ จึงได้เชิญเครือข่ายต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไทย เข้าร่วมเป็นพันธมิตร และร่วมกันก่อตั้ง สมาพันธ์เครือข่ายเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ขึ้น

ศ.พญ.สมศรี กล่าวว่า ภารกิจแรกของสมาพันธ์เครือข่ายนี้ คือการรณรงค์ให้ความจริงแก่สังคมและองค์กรต่าง ๆ ให้ตระหนักถึงกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ที่เข้ามาสกัดกั้นมาตรการเรื่องการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่  โดยอ้างว่ามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขก่อความเสียหายแก่บริษัท ทั้ง ๆ ที่บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์และทำกำไรจากการขายบุหรี่ ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่นำมาซึ่งโรคภัยร้ายแรง และก่อความสูญเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล     

นพ.วันชาติ  ศุภจัตุรัส นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การที่บริษัทบุหรี่ทำทุกวิถีทางเพื่อล้มกฎของกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ตนเชื่อว่า เป็นเพราะบริษัทบุหรี่ต้องการเชือดประเทศไทย เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ไม่กล้าออกมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลในการลดการสูบบุหรี่  “องค์กรต่าง ๆ ที่ดูแลเรื่องคดีความที่บริษัทบุหรี่ฟ้องรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ จะต้องไม่หลงคารม และ ไม่หลงกลบริษัทบุหรี่ ที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบที่ดีแก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ในการมีมาตรการที่ก้าวหน้าในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเริ่มสูบบุหรี่”

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้บรูไนเป็นประเทศที่มีคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ 75% ขณะที่ปัญหาการสูบบุหรี่ในบรูไนรุนแรงน้อยกว่าประเทศไทยมาก การเพิ่มขนาดคำเตือนเป็น 85%  เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทย หากเราตั้งใจที่จะปกป้องลูกหลานของเราไม่ให้ตกเป็นทาสของบุหรี่ โดยขณะนี้มีเด็กไทยเริ่มสูบบุหรี่ปีละ 250,000 คน หรือวันละ 685 คน ซึงหากติดบุหรี่แล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ก่อนที่จะป่วย ที่เหลือจะสูบต่อไปจนป่วยและตาย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง