ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) 

สปส.เผยผลศึกษา 6 แนวทางเบื้องต้นแก้กองทุนชราภาพของประกันสังคมติดลบใน 31 ปีข้างหน้า เหตุต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพ ทั้งใช้วิธีเพิ่มอัตราเงินสมทบ-ขยายอายุเกษียณ-ปรับฐานคำนวณเงินบำนาญ หากทุกมาตรการผสมกันยืดอายุกองทุนได้ 73 ปี แจงยังไม่มีข้อยุติ ต้องหารือทุกฝ่าย ชงบอร์ด สปส.เคาะแล้วเสนอ ครม. เตรียมหารือกับสปสช.เรื่องโอนรักษาพยาบาลเร็วๆนี้

วันนี้ (7 ต.ค.) นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมการแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะติดลบในอนาคตเนื่องจากต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า ปัจจุบันเงินกองทุนประกันสังคมมีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี พ.ศ. 2557 สปส.จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นปีแรกโดยได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญและบำเหน็จชราภาพรวมทั้งสิ้นกว่า 1.2 แสนคน จะต้องจ่ายเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกไปกว่า 8 พันล้านบาท และได้ประมาณการของ สปส.ว่าในปี พ.ศ.2587 หรืออีก 31 ปีข้างหน้ากองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ

ทั้งนี้คณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคมของ สปส.ได้สรุปทางเลือกเบื้องต้นในการแก้ปัญหาไว้ 6 ทางเลือก เพื่อยืดอายุกองทุนชราภาพได้แก่ 1.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปีโดยปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ปรับเพิ่มร้อยละ 0.34 ต่อปีและร้อยละ 0.17 ต่อปี กระทั่งอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 รวมอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพเท่ากับร้อยละ 21 หลังจากนั้นกำหนดให้อัตราเงินสมทบคงที่ในอัตราดังกล่าวยืดอายุกองทุน 47 ปี 

2.การเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุกๆ 4 ปีจนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี อาจใช้ปีเกิดเป็นเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2510 เป็นต้นไปจะมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุ 62 ปี หรืออาจกำหนดปีที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป อายุเกษียณจะปรับเพิ่มปีละ 6 เดือน โดยอัตราเงินสมทบคงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่ที่ร้อยละ 3 ยืดอายุกองทุน 38 ปี 3.เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี โดยอัตราเงินสมทบเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ยืดอายุกองทุน 34 ปี 

4.การปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจากฐาน 60 เดือนสุดท้ายของเงินเป็นตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบเพื่อใช้คำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 19 และค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคมลดลงร้อยละ 19 เช่นกัน ยืดอายุกองทุน 33 ปี

5.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 59 ปี และ 6.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 พร้อมกัน ทำให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพนานไปถึงปี พ.ศ.2629 หรืออีก 73 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แต่ละมาตรการจะต้องเริ่มต้นไม่ช้ากว่าปี พ.ศ.2560 

“ทั้ง 6 ทางเลือกข้างต้นนี้เป็นแต่เพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ในขณะนี้ อาจจะมีแนวทางอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นมาอีกก็ได้ คาดว่าจะเห็นทิศทางของแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนในปีหน้าโดยจะต้องเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพิจารณาแล้วเสนอต่อบอร์ด สปส.หลังจากนั้นจะนำมาตรการดังกล่าวไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับระบบประกันสังคมมีผลกระทบต่อผู้ประกันตนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ หลังจากนั้นได้ข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะเสนอข้อสรุปเข้าสู่บอร์ด สปส.เมื่อบอร์ด สปส.มีมติเห็นชอบแล้ว ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป” รองเลขาธิการ สปส.กล่าวและว่า ในเร็วๆ นี้ ทาง สปส.จะมีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เรื่องการโอนเงินสิทธิประโยชน์เกี่ยวการรักษาพยาบาลว่าจะให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลหรือไม่ซึ่งต้องรอฟังข้อสรุปอีกครั้ง

ที่มา : www.manager.co.th