ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสียงโห่ร้องแสดงความดีใจกึกก้องห้องโถงอาคารรัฐสภา เมื่อเย็นย่ำวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนหมออนามัยกว่าพันชีวิตจากทั่วประเทศกระโดดกอดกันด้วยความยินดีในความสำเร็จ เมื่อรู้แน่ชัดว่าสภาผู้แทนราษฎรยกมือผ่านกฎหมายยกระดับวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 382 ต่อ 0 ถือเป็นการฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งหลังร่วมต่อสู้มายาวนานถึง 4 ปี

"ทัศนีย์ บัวคำ" อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เล่าว่า ครั้งนี้เครือข่ายพี่น้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือชาวบ้านเรียกกันว่า "หมออนามัย"มาร่วมกันกดดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณากฎหมาย"พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน" ซึ่งมีการร่างและผ่านกระบวนการต่างๆ จนเข้าสู่สภา วันแรกตั้งแต่ 5 สิงหาคม 2552 ที่ต้องต่อสู้ยาวนานถึง 4 ปี เพราะประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลในสถานีอนามัยมีกฎหมายรองรับการทำงาน มีเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพเทียบเท่ากับอาชีพอื่นๆ หากประมาณตัวเลขเบื้องต้น กลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีจำนวนเกือบ 7 หมื่นคน แบ่งเป็น ทำงานประจำในสถานีอนามัย หรือที่เปลี่ยนชื่อเรียกว่า "รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล" 9,800 กว่าแห่งทั่วประเทศ 3.7 หมื่นคน, ประจำอยู่องค์กรปกครองท้องถิ่น 1 หมื่นกว่าคน และที่เหลือทำงานอยู่ในสถานประกอบการเอกชน

"จุดประสงค์หลักที่พวกเราต้องการกฎหมายฉบับนี้ เพราะทุกวันนี้หมออนามัยทำงานช่วยเหลือแพทย์พยาบาลทุกอย่าง เช่น ทำแผล ฉีดวัคซีน ฉีดยาคุมกำเนิด วัดความดัน ฯลฯ บางคนต้องเดินทางไปทำคลอดให้ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล พวกเราต่อสู้กันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2456 (ยุคสุขศาลา) เริ่มมีหมออนามัยกลุ่มแรกๆ ถ้ามีกฎหมายรองรับจะมีคณะกรรมการเข้ามาควบคุมคุณภาพและจรรยาบรรณวิชาชีพ ชาวบ้านรู้ดีว่าหมออนามัยไม่ใช่หมอจริง แต่บางคนก็ทำเกินหน้าที่ พอมีกฎหมายฉบับนี้ทุกคนต้องมาขึ้นทะเบียนและตรวจคุณสมบัติว่าผ่านหลักเกณฑ์หรือไม่"

ตัวแทนสมาคม อธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่บุคลากรด้านนี้เรียนจบปริญญาตรีสาขาสาธารณสุข, ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สาธารณสุขสิ่งแวดล้อม กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้ง "สภาการสาธารณสุขชุมชน" ช่วยส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เช่น การดูแลคนในชุมชน การป้องกันควบคุมโรค การบำบัดโรคเบื้องต้น จนถึงช่วยเหลือผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย การชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม แต่ไม่รวมถึงการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมาย ส่วนเรื่องค่าตอบแทนจากเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 8,000 บาท อาจได้ค่าวิชาชีพเพิ่มด้วย แต่ต้องรอดูรายละเอียดของกฎหมายอีกครั้ง

"พวกเรารวมตัวมาวันนี้ ไม่ใช่มากดดัน แต่มาขอร้องให้สภาเร่งพิจารณาลงคะแนนเสียง มีกฎหมายหลายฉบับรออยู่ กลัวว่าจะไม่ทันประชุมครั้งนี้ ยังคิดเลยนะว่าถ้าเลื่อนออกไปอีก พวกเราจะยุติบทบาทการทำงานบางหน้าที่ชั่วคราวที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง เช่น การฉีดวัคซีน หรือตรวจวัดโรคบางอย่าง โชคดีที่เลื่อนขึ้นมาและโหวตผ่านเรียบร้อย รู้สึกดีใจมากค่ะ ทุกคนมีความสุข คุ้มค่าที่มาช่วยกันรวมพลัง" ทัศนีย์ กล่าว

เช่นเดียวกับ "ปราณี ประไพวัชรพันธ์"เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต.นาราก อ.คอนบุรี จ.นครราชสีมา หนึ่งในหมออนามัยที่ทำงานกับชาวบ้านมานานกว่า 33 ปี ขออนุญาตใช้วันหยุดลางานมารัฐสภาด้วย "ปราณี" สะท้อนว่า พวกเราเป็นเหมือนชนชั้นสอง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นกรรมกรสถานีอนามัย หรือกรรมกรประจำกระทรวงสาธารณสุข เพราะทำทุกอย่างที่หมอหรือพยาบาลสั่ง ทั้งฉีดยา ทำแผล ให้น้ำเกลือ กายภาพบำบัด ฯลฯ

"ทำงานแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่กลับถูกลืม ไม่มีวิชาชีพรองรับ ไม่ค่อยได้งบประมาณมาอบรมทักษะ หรืออบรมเพิ่มพูนความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพ ทุกวันนี้ทำงานฉีดยาไปก็กลัวไปว่าจะมีคนไข้มาฟ้องร้องเราหรือเปล่า สถานีอนามัยที่อยู่ห่างไกลความเจริญหลายแห่งไม่มีหมอพยาบาลประจำอยู่ตลอดเวลา มีแต่พวกเราทำแทนทุกอย่าง กฎหมายฉบับนี้ช่วยยกระดับและทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น ถือเป็นการคัดกรองเจ้าหน้าที่เบื้องต้นด้วย" ปราณีเผยความรู้สึก สำหรับผู้อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองใหญ่หรือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ คงนึกไม่ออกว่าเจ้าหน้าที่อนามัยสำคัญอย่างไร เพราะทุกพื้นที่มีทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ฯลฯ แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงหรือชายแดนห่างไกลชุมชนเมืองนั้น หมออนามัยคือที่พึ่งสำคัญของพวกเขา

"หมอตุ่ย" นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก แสดงความเห็นในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายหมอชายแดน ถึงประเด็นการยกระดับวิชาชีพของหมออนามัยว่า แต่ก่อนทั้งหมออนามัยและหมอตำแยเป็นคนในหมู่บ้านที่กระทรวงสาธารณสุขเอาไปอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการแพทย์ จะได้ช่วยหมอทำงานบางอย่างได้ อบรมประมาณ 6 เดือน หรือ 1-2 ปี ตอนหลังส่งเสริมให้เรียนปริญญาตรี มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งสนับสนุน

ส่วนตัวหมอตุ่ยเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะทุกอาชีพควรมีสภาวิชาชีพรองรับ แพทย์ก็มี พยาบาลก็มี วิศวกรก็มี แล้วทำไมหมออนามัยจะมีบ้างไม่ได้ อุ้มผางถ้าคนไข้มาแล้วไม่หนักหนาสาหัสมาก เจ้าหน้าที่เหล่านี้ช่วยกันทำแผล เจาะเลือดดูเชื้อมาลาเรียได้ แต่ละคนมีความชำนาญและรู้ขอบเขตว่าตัวเองทำได้แค่ไหน เป็นที่พึ่งของชาวบ้านจริงๆ ถ้ามีโรคซับซ้อนหรือรุนแรงจึงส่งให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย

"มีกลุ่มหมอบางคนมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะกลัวว่าหมออนามัยไม่มีความรู้ ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ จะเป็นอันตรายต่อคนไข้ พวกเขาไม่เคยอยู่พื้นที่ชนบท หญิงท้องในหมู่บ้านบนภูเขาถ้าต้องไปโรงพยาบาลคลอดลูก คงแท้งเด็กตายเสียก่อน ตอนนี้ผมฝึกหมอตำแยประจำหมู่บ้านไว้เลยกว่า 200 คน มีอะไรเขาทำคลอดได้ทันที ให้เครื่องมืออุปกรณ์เก็บไว้ด้วย เมืองไทยยังมีคุณหมอตัวจริงไม่พอ ก็ได้หมออนามัยกับหมอตำแยมาช่วย พวกเขาคือคนที่เสียสละทำงานช่วยชาวบ้านมาตลอด" นพ.วรวิทย์กล่าวสรุปทิ้งท้าย

พ.ร.บ.วิชาชีพ การสาธารณสุขชุมชน

1.ตั้ง สภาการสาธารณสุข และ คณะกรรมการสภาวิชาชีพการสาธารณสุข

2. สมาชิกต้องจบระดับปริญญาหรือเทียบเท่า

3. สมาชิกต้องขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุข

4. ผ่านการทดสอบความรู้วิชาชีพ และไม่ทำผิดตามจรรยาบรรณที่กำหนด

5. มีบทลงโทษผู้แสวงหาประโยชน์จากบุคคลอื่น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 11 ตุลาคม 2556