ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTV ผู้จัดการรายวัน - นับตั้งแต่เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขมาเป็นหมอประดิษฐ์ กระทรวงสาธารณสุขก็คล้ายกับแดนสนธยาเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์หรือการระวังไข้เลือดออกที่ปีนี้มีการระบาดมากที่สุด กระทั่งบรรดาข้าราชการในกรมต่างๆ ก็ดูเหมือนจะชอบใช้วัฒนธรรมแดนสนธยาเป็นหลักในการทำงานเหมือนกัน ดูอย่างเรื่องของการรณรงค์เรื่องให้นมแม่เลี้ยงทารกอย่างเดียวซึ่งเป็นหลักการที่ดี แต่ในชีวิตจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้นนะครับ คุณแม่บางคนก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือมีความจำเป็นอื่นๆ ในชีวิตไม่สามารถให้น้ำนมได้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นได้บ้าง

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะมีข่าวจากคนในกรมอนามัยมาให้ข้อมูลด้วยความหนักใจว่า ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ที่มีความพยายามผลักดันจากเจ้ากรมมานาน บัดนี้ได้ถึงเวลาเปิดออกมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่เจ้ากรรม วิธีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อกรณีร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.ครั้งนี้ เขาเปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นด้วยการส่งเป็นหนังสือเวียนให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข และเอ็นจีโอจัดตั้งเท่านั้น ไม่ได้ให้ประชาชนภายนอกได้รับรู้ด้วยเลย แล้วมันจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้อย่างไรกัน

เบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้การทำประชาพิจารณ์ฉบับกรมอนามัยมีความวิปริตพิศดารพันลึกแบบนี้ ก็เพราะว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาปิดกั้นการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนมที่ใช้เลี้ยงทารกจากแหล่งอื่นๆ โดยบังคับให้ผูกขาดการให้ข้อมูลจากหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดยุคผิดสมัยในโลกออนไลน์ในสมัยนี้เป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นที่ดูเล็กๆ แบบนี้แหละครับจริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องผิดกฎหมายและไม่ถูกกับยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง การจัดทำกฎหมายใดๆ ก็ตามย่อมมีผลบังคับใช้ทุกคนในประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกันหมดเพราะฉะนั้นทุกคนต้องมีสิทธิรับทราบข้อมูลว่าหน่วยงานของรัฐจะออกกฎหมายอะไรออกมาบังคับใช้เพื่อจะได้สนับสนุนหรือคัดค้าน หากมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนโดยไม่ถูกต้อง

กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานของรัฐที่บริหารงานโดยภาษีของประชาชนจึงต้องยอมรับในกฎเกณฑ์นี้และควรจะทำความเข้าใจใหม่ต่อคำว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ เริ่มจากการทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. อย่างเปิดเผยและทั่วถึงนี้ก่อนเลยครับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 16 ตุลาคม 2556