ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเผย ก.ล.ต.รับลูก เปิดทางลูกจ้างสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มากกว่านายจ้าง 

นายหรรษา สุสายัณห์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ในฐานะอุปนายกกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นด้วยในแนวคิดที่จะเปิดทางให้ลูกจ้างสามารถสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มากกว่าอัตราการจ่ายสมทบของนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม นายหรรษา ยอมรับว่าในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในอดีตการแก้ไขกฎหมายจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

"ในปัจจุบันนายจ้างจะต้องสะสมเท่ากับลูกจ้าง ซึ่งหากแก้ไขกฎหมายแล้วจะทำให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้มากขึ้น โดยที่นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายสมทบให้ในอัตราที่เท่ากัน" นายหรรษา กล่าว

นอกจากนี้ นายหรรษา ยังกล่าวอีกว่าก.ล.ต.ยังมีความพยายามผลักดันให้เกิดกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนภาคบังคับไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อยกระดับความมั่นคงด้านการเกษียณของคนไทย เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีการออมภาคบังคับเพียงอย่างเดียวคือ ประกันสังคม ซึ่งยังไม่เพียงพอ

ในขณะที่การออมภาคสมัครใจ คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ไม่ครอบคลุมแรงงานทั้งระบบ

"ปัจจุบันมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2.7 ล้านคน ขณะที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 7.3 แสนล้านบาท ดังนั้นเฉลี่ยแล้วมีเงินออมเพื่อเกษียณคนละ2.8 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งหากหลังเกษียณใช้จ่ายเดือนละ 1 หมื่นบาทจะใช้ไปได้เพียง 2 ปี4 เดือนเท่านั้น ขณะที่แรงงานอีก 10 ล้านคน ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" นายหรรษา กล่าว

พร้อมกับเปรียบเทียบกับกองทุนภาคบังคับของประเทศมาเลเซีย ทำให้ลูกจ้างมีเงินออม 5.5 แสนบาท ขณะที่สิงคโปร์มีเงินออมต่อหัวเกือบ 2 ล้านบาท

นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า สำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ไม่สามารถจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น ในต่างประเทศเปิดให้ใช้กองทุนในรูปแบบเดียวกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) เป็นช่องทางในการออม โดยออกแบบวิธีการที่ทำให้นายจ้างสามารถจ่ายสมทบได้สะดวก

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 17 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง