ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยทันตแพทย์จับมือเครือข่ายจัดประชุมวิชาการการเตรียมความพร้อมด้านทันตกรรมของไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ 24-25 ต.ค.นี้ กระตุ้นวงการทันตแพทย์ไทยรับมือกับการดูแลผู้สูงอายุ ชี้ไทยใช้เวลาเพียง 20 ปี กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้เวลา 70-100 ปี กว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ไทยมีเวลาเตรียมพร้อมไม่ทัน

ผศ.(พิเศษ)ทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์กล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และในอีก 11 ปีข้างหน้าหรือพ.ศ.2567 ไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุร้อยละ 20 และในอีก 17 ปีข้างหน้าหรือ พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 25 และในจำนวนนี้ร้อยละ 25 เป็นคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป โดยสองในสามของผู้สูงอายุเหล่านี้จะเป็นผู้หญิง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่เป็น “ความเร็ว” ของการเพิ่ม องค์การสหประชาชาติเตือนว่า ประเทศไทยใช้เวลาเพียง 20 ปีในการเพิ่มสัดส่วนประชากรสูงอายุเป็นเท่าตัว คือจากร้อยละ 8 (ในพ.ศ. 2543) เป็นประมาณร้อยละ 16 (ในพ.ศ. 2563) ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 70 – 100 ปี นั่นคือเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนไทย แต่เพิ่มปริมาณช้าๆ จึงปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในขณะที่ไทยมีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่าหลายเท่า สิ่งที่ทั่วโลกเป็นกังวลมากที่สุดตอนนี้คือจำนวนประชากรวัยทำงานที่ค่อยๆลดน้อยลงจากภาวะมีบุตรน้อย ซึ่งจะส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยประชากรของประเทศลดลง การออมลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นจากโรคเรื้อรังต่างๆ ผลผลิตรวมของประเทศก็ลดลงแต่รายจ่ายสวัสดิการของรัฐจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุและประกันสุขภาพ

ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาลกล่าวต่อว่า ปัญหาของผู้สูงอายุมีความซับซ้อนและแตกต่างจากประชากรกลุ่มอื่นๆการจัดการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น จึงเป็นภารกิจสำคัญของประเทศ บุคลากร และนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และด้านการแพทย์ จำเป็นต้องบูรณาการแสวงหาแนวปฏิบัติเพื่อให้การดูแลจัดการการเกื้อหนุนหรือรักษาผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปฏิบัติจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้สูงอายุที่ดี มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และเมื่อมีปัญหาต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน บุคลากรที่ต้องรับผิดชอบและที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของผู้สูงอายุ ปัญหาที่พบ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บที่มักเกิดผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ

ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาลกล่าวว่า ดังนั้น ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดประชุมวิชาการเรื่อง “การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย” ในวันที่ 24-25 ตุลาคม 2556 นี้ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจปัญหา การจัดการดูแลและเกื้อหนุนผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง แลกเปลี่ยนความรู้โดยนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานวิจัยประสบการณ์การบริหารจัดการและการดูแลผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและวิชาชีพต่างๆ ส่งเสริมการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานที่รับผิดชอบ และกระตุ้นให้วงการทันตแพทย์และวิชาชีพทางสุขภาพในประเทศตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมการรับมือกับปัญหาการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุเป็นองค์รวม เพื่อบูรณาการกับการให้บริการอื่นๆ ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีในเวลา 15.00 น. วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุมสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต