ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปส.เตรียมปรับเกณฑ์เบิกค่าคลอดบุตร หากไปคลอดบุตรใน รพ.ระบบประกันสังคมพร้อมจ่ายข้างเตียง คลอด รพ.นอกระบบประกันสังคมให้จ่ายข้างเตียง หรือผู้ประกันตนสำรองไปก่อนสามารถเบิกภายหลังได้ กรณีโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์-คลอดบุตรให้ รพ.ที่รักษาเบิกกับ สปสช.หรือสปส.

วันนี้ (18 พ.ย.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.ได้หาแนวทางปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ซึ่งปัจจุบัน สปส.กำหนดอัตราไว้ที่ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 คน หลังจากเกิดกรณีผู้ประกันตนซึ่งตั้งครรภ์แต่ต้องไปคลอดบุตรเองที่บ้านโดยผู้ประกันตนระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการทำคลอด เนื่องจากเกรงไม่มีเงินจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงควรปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายโดยกรณีที่ผู้ประกันตนไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ก็ให้โรงพยาบาลดังกล่าวประสานมายัง สปส.โดยตรง เพื่อที่ สปส.จะได้ไปจ่ายเงินค่าคลอดบุตรให้แก่โรงพยาบาลทันที หลังจากผู้ประกันตนคลอดบุตร ซึ่งวิธีนี้เรียกว่าเป็นการจ่ายข้างเตียง ส่วนกรณีผู้ประกันตนไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลนอกระบบประกันสังคม จะให้ สปส.ไปจ่ายข้างเตียง หรือผู้ประกันตนสำรองเงินไปก่อนและนำมาเบิกเงินค่าคลอดบุตรจาก สปส.ภายหลังก็ได้

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งตั้งครรภ์และมีอาการโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ก็ถือเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลตามเงื่อนไขข้อตกลงของทั้ง 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ซึ่งโรงพยาบาลที่ให้การรักษาและทำคลอดสามารถยื่นเรื่องเบิกเงินค่ารักษาและค่าทำคลอดผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หรือจะยื่นเรื่องเบิกมายัง สปส.โดยตรงก็ได้ หรือกรณีค่าคลอดบุตรจะให้สปส.ไปจ่ายข้างเตียงก็พร้อมจะไปจ่าย 

อย่างไรก็ตาม สปส.จะต้องทำเรื่องขออนุมัติจากคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.เพื่อขอให้ สปสช.ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางดูแลการรักษาและเบิกค่ารักษาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุนทำหน้าที่วินิจฉัยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของผู้ประกันตนแทนสปส.เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำคำวินิจฉัยดังกล่าวมายืนยันอาการของผู้ประกันตนและสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่ารักษากับ สปสช.หรือ สปส.ได้
“ผมจะเสนอแนวทางข้างต้นต่อนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.)และประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.)ภายในเดือน พ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องเข้าบอร์ด สปส.ในเดือน ธ.ค.นี้ ถ้าได้รับความเห็นชอบก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.2557” นพ.สุรเดช กล่าว

ที่มา : www.manager.co.th