ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรมร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งหน่วยวิจัยเภสัชวิทยาทางคลินิกด้านชีวสมมูล เร่งเดินหน้าศึกษาประสิทธิผลยาชื่อสามัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากถึง ร้อยละ 75 ของยาที่ใช้ทั้งหมด มูลค่าประมาณปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ตลาดยาในประเทศมีมูลค่า ประมาณ 60,000 -70,000 ล้านบาท ซึ่งยาบางชนิดที่มีมูลค่าการใช้สูงนั้นมีการใช้กันมากอย่างกว้างขวางและใช้กันมานานแล้ว อีกทั้งยาเหล่านี้ มีมูลค่าการใช้สูง และเป็นยาที่มีราคาแพง จะใช้ได้เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้นดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีการวิจัย และพัฒนายาชื่อสามัญ มาทดแทนยาเหล่านี้ เพราะจะทำให้ยามีราคาถูกลง และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยาชื่อสามัญให้เป็นที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงองค์การฯ จึงต้องดำเนินการผลิต และจัดหายาชื่อสามัญ โดยเฉพาะยาชื่อสามัญที่มีปริมาณความต้องการใช้สูง และมีมูลค่าสูง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยามากขึ้น ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และยังนำมาซึ่งการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบสาธารณสุขไทย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยทางคลินิกอยู่หลายคณะ โดยเฉพาะคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ดังนั้น ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านชีวสมมูล ของยาชื่อสามัญ ระหว่าง อภ. กับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในการเห็นความสำคัญของการผลิตยาชื่อสามัญ โดยเฉพาะบริบทของ อภ. ซึ่งมีบทบาทในการผลิตยาให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ทั้งในยามปกติหรือในภาวะวิกฤติต่างๆประกอบกับทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มีอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคเขตร้อน ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสถานที่ ด้านบุคลากร ด้านวิชาการ เครื่องมือ จึงน่าจะเป็นความร่วมมือ ที่จะนำไปสู่การทำประโยชน์ให้ประชาชนได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาเหมาะสม โดยผ่านการทดสอบทางคลินิก ในระดับที่ได้มาตรฐานสากล

ขณะที่ รศ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ เสริมว่า ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องของการทดสอบวัคซีน ตั้งแต่ ระยะที่ 1, 2, 3 ตั้งแต่ในเรื่องของความปลอดภัย ภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 28 ปี มีการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี หรือ GCP (Good Clinical Practice) อันเป็นมาตรฐานสากลในด้านจริยธรรมและวิชาการ ซึ่งเป็นการประกันว่า สิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร จะได้รับการคุ้มครอง โดยการศึกษาจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทุกขั้นตอน มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดังนั้น การขยายศักยภาพของศูนย์ทดสอบวัคซีน มาช่วยในเรื่องศึกษาวิจัยทางชีวสมมูลของยา ก็มีความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ประเด็นที่สำคัญของการวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญ คือ เรื่องของคุณภาพหรือประสิทธิผลทางการรักษาของยา เมื่อมีการรับประทานแล้ว จะมีผลดีเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ศูนย์ฯ ดังกล่าว จะดำเนินการศึกษาชีวสมมูลของยา โดยจะรองรับการทำชีวสมมูลในส่วนของการศึกษาทางคลินิก ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 รายการ คือ ยาลดกรด และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ตั้งเป้าในปีนี้ จะดำเนินการให้ได้ประมาณ 20 รายการ

 “ศูนย์ฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิผลของยา อันเป็นกระบวนการที่สำคัญในการศึกษาวิจัยสูตรตำรับยา เพื่อพิสูจน์ว่า ยาชื่อสามัญ มีคุณภาพเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ส่งผลให้ยามีคุณภาพ ได้ผลการศึกษาที่รวดเร็ว ทันต่อการนำไปใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วย มีประสิทธิภาพต่อไป”