ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -เดือนพฤษภาคมปี 2556 ข่าววัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปนเปื้อน กลายเป็นประเด็นครึกโครม เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ในแง่ความเชื่อมั่นคุณภาพยาแล้ว ยังลุกลามไปถึงการบริหารด้านอื่นๆ จนนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ อภ. ที่มี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน พิจารณาปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.

ด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปัญหายาพาราฯปนเปื้อน การจัดซื้อวัตถุดิบมาสต๊อกโดยไม่มีการผลิต ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นความล่าช้าในการเดินหน้าจัดตั้งโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ที่รังสิตและโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก

กระทั่งปี 2557  นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ ก็เจอมรสุมไม่ต่างกัน เพราะหลักๆ ยังมีเรื่องความล่าช้าของโรงงานผลิตยารังสิต และโรงงานผลิตวัคซีนฯเหมือนเดิม เพียงแต่ต่างกรรมต่างวาระ!

โดยครั้งนี้ สืบเนื่องจาก 8 องค์กรสุขภาพ มีชมรมแพทย์ชนบท กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเภสัชชนบท กลุ่มศึกษาปัญหายา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ได้ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ปลดบอร์ด อภ. และผู้อำนวยการ อภ. เนื่องจากบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้เสี่ยงขาดยา โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวี และไม่สามารถเดินหน้าโรงงานยารังสิตและโรงงานผลิตวัคซีน สุดท้าย นพ.พิพัฒน์ และกรรมการ รวม 10 คน ลาออก เหลือ นพ.สุวัช และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. หนึ่งในกรรมการ

เรื่องไม่จบ 8 องค์กรสุขภาพยังร้องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้พิจารณาเอาผิด นพ.สุวัช กรณีบริหารงานที่ส่อในทางมิชอบ โดยเฉพาะโรงงานผลิตยารังสิต ที่มองว่าเป็นการเอื้อบริษัทรับเหมาที่ถูกเลิกจ้างไป แม้เจ้าตัวจะออกมาชี้แจงในประเด็นต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ข่าวแง่ลบที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของ อภ.

เกิดคำถามว่า ในยุค คสช.ที่ต้องการปฏิรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้ดียิ่งขึ้น ในฐานะผู้อำนวยการ อภ.จะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร...

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. บอกว่า ประเด็นต่างๆ มีการชี้แจงแล้ว และพร้อมชี้แจงในทุกเรื่องหากหน่วยงานกลางที่ตรวจสอบเรื่องนี้ต้องการ และยินดีหากเครือข่ายสุขภาพจะเข้ามาตรวจสอบพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องโรงงานผลิตยารังสิต ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 ดำเนินการก่อสร้างมาทั้งหมด 8 งวด แต่มีการแก้ไขแบบ โดยพบว่ามีการติดตั้งเครื่องที่ไม่ตรงตามสเปก ไม่ตรงตามทีโออาร์ ดังนั้น ในงวด 9 และ 10 เมื่อมีการตรวจรับงานจึงไม่ผ่าน และพบว่าบริษัทผู้รับเหมามีการทิ้งระยะสัญญานาน จนต้องมีการบอกเลิกสัญญาไปเมื่อปี 2556

ประเด็นคือ หากจะเดินหน้าโรงงานดังกล่าว จะต้องมีความชัดเจนว่าควรไปในทิศทางใด ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอบอร์ด อภ.ว่า ควรมี Third Party หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากภายนอกองค์กร เพื่อมาแนะนำว่า โรงงานนี้ควรมีการเดินไปทิศทางใด และก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนสเปก ควรจะต้องแก้ไขแบบอีกหรือไม่ เพราะหากมีอาจต้องมีเรื่องงบประมาณเข้ามาอีก ดังนั้น จึงขอให้มีความชัดเจนตรงนี้ก่อน ประกอบกับอยากให้รอบอร์ด อภ.ชุดใหม่ เพื่อจะได้ทราบถึงนโยบาย และแจ้งความคืบหน้าเรื่องนี้ด้วย

ส่วนโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก จ.สระบุรี ซึ่งหยุดก่อสร้างนั้น เพราะมีปัญหาเรื่องแก้ไขแบบ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าเมื่อมีการพิจารณาว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายงบประมาณเพิ่ม โดยผู้รับเหมารับผิดชอบ แต่ อภ.ต้องนำเครื่องจักรมาติดตั้ง จึงต้องซื้อเครื่องจักร โดยจากการต่อรองราคา อภ.ต้องจ่ายเพิ่มอีก 39 ล้านบาท และมีค่าที่ปรึกษา ค่าต่างๆ อีกรวมเป็น 45 ล้านบาท ซึ่ง อภ.ต้องดำเนินการเอง แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานนี้เป็นมติ ครม.มาก่อน จึงต้องมีการรายงานเรื่องต่อ ครม. ซึ่งมายุคนี้ก็ต้องรายงานต่อ คสช. โดยปลัด สธ. จะเป็นผู้เสนอต่อไป

สำหรับประเด็นโจมตี อภ.ผลิตยาไม่ทันนั้น มาจากการปรับปรุงโรงงานผลิตยา ซึ่งเป็นโรงงานเก่าร่วม 40 ปี ปัจจุบันได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) อยู่แล้ว แต่อาจมีบางจุดที่ต้องปรับปรุงเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงไปแล้วกว่า 27 จุด จากทั้งหมดกว่า 30 จุด ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ท้วงติงสมัยก่อนตนรับตำแหน่ง อาทิ การจัดระบบงาน การดูแลในเรื่องความสะอาด เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงโรงงานเก่า ยืนยันว่าไม่ได้ปิดสายการผลิตจนทำให้เกิดปัญหายาขาดอย่างที่เข้าใจ เพราะปัจจุบันยังผลิตยาได้เหมือนเดิม เพียงแต่อาจผลิตได้น้อยลงจากเดิมปีละ 3,000 ล้านเม็ด อาจลดลงประมาณ 30-40% ซึ่ง อภ.ได้จัดหายาบางตัวที่จำเป็นมาทดแทน ขณะเดียวกัน ก็มีโรงงานใหม่ที่พระรามหก ซึ่งเป็นอีกอาคาร เรียกว่า โรงงานแมสโปรดักชั่น (Mass Prodution) เริ่มเปิดมา 4-5 เดือน มาช่วยเป็นกำลังผลิตยาอีกทาง ผลิตได้ 14-15 ล้านเม็ดต่อเดือน แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 40 ล้านเม็ดต่อเดือน ซึ่งจะทำให้อัตราการผลิตชดเชยดีขึ้น โดยภาพรวมจะทำให้สามารถผลิตยาได้ปีละ 3,000 ล้านเม็ด เท่ากับมาตรฐานอยู่แล้ว

"จริงๆ แล้วโรงงานแมสโปรดักชั่น ที่พระรามหก ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยพบว่า หลังมีการตรวจรับงานเมื่อเดือนเมษายน 2556 จากนั้นนำมาทดลองใช้ ก็พบปัญหาเรื่องการบรรจุและระบบลม จึงต้องมีการปรับปรุงอีก" นพ.สุวัชกล่าวเห็นได้ว่าประเด็นต่างๆ พร้อมชี้แจง แต่สิ่งสำคัญนับจากนี้ นพ.สุวัช เตรียมเดินหน้าปฏิรูป อภ. โดยต้องจัดโครงสร้างใหม่ และปรับระบบทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้น โดยต้องปรับโครงสร้างใหม่ จากปัจจุบันมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ส่วนผลิต ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีบุคลากรมากที่สุด โดยรวมทั้งการผลิตส่วนโรงงานเก่าและโรงงานใหม่ ข้อเท็จจริงควรแยกออกเป็น 2 ส่วน 2 อาคาร ระหว่างอาคารใหม่และเก่า เพื่อจะได้เปรียบเทียบเนื้องาน และหากจุดใดมีปัญหา จะได้แสริมการผลิตอีกจุดได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เห็นด้วย

และ 2.ส่วนคลังพัสดุ และฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ควรแยกกัน อย่างคลัง ดูเรื่องสต๊อก แต่จัดซื้อจัดจ้าง จะวางแผนการผลิต ควรแยกออกจากกัน เพราะจะช่วยเช็กกันว่า สต๊อกตัวไหนขาด หรือตัวไหนมาก จะได้ส่งสัญญาณได้ อย่างวิธีการจัดซื้อของ

อภ.ก็ควรจะสอดคล้องกัน อย่างการทำอีออคชั่น การบริหารสัญญา ควรแยกกัน เพื่อให้โปร่งใสขึ้น หากไม่ทำก็จะทำให้การบริหารสัญญามีปัญหา อีกทั้ง จะมีการพิจารณาแก้ไขระเบียบบางตัวของ อภ. ที่ค่อนข้างกำกวม อย่างระเบียบสัญญาจ้างบริษัทรับเหมาบางตัว มีความไม่ชัดเจน บางกรณีระบุว่า อภ.สามารถแก้ไขแบบได้ตลอดสัญญาในการจัดสร้างโรงงานหรือสัญญาใดก็ตาม ตรงนี้อาจเปิดช่องให้เอกชนรับเงินเพิ่มขึ้น คงต้องพิจารณาอย่างละเอียด และขอความเห็นในบอร์ด อภ.ชุดใหม่ว่าจะทำอย่างไร

สรุปคือ จะต้องรอบอร์ด อภ.ชุดใหม่ ซึ่งจะมีการเสนอแนวทางการปฏิรูป อภ. เพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพ ที่สำคัญกู้ความเชื่อมั่นกลับคืน

มารอกันว่า บอร์ด อภ.ชุดใหม่จะเห็นพ้องต้องกันหรือเห็นต่าง...

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 3 ส.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--