ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - เมื่อบทบาทของผู้คน "หลากสี" ในสังคม "ต่างขั้ว"กำลังกลายเป็น "ประเด็นร้อน" ของประเทศไทย ทำให้ทุกคนต่างถูกกระแส "การเมือง" เกาะเกี่ยวชีวิตเอาไว้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

โพลหลายสำนักชี้ชัดเป็นเสียงเดียวกันถึงความรู้สึกที่ผูกกับการเมืองเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจ "สวนดุสิตโพล" พบว่า ความวุ่นวายทางการเมือง การขาดความสามัคคี และค่าครองชีพที่สูงขึ้นถือเป็นความทุกข์ 3 อันดับแรกของ คนไทยในปัจจุบัน ส่วน "กรุงเทพโพล" เผยผลสำรวจถึง สิ่งที่คนไทยอยากปล่อยลอยไปกับกระทงในวันลอยกระทง ที่ผ่านมา มากที่สุดก็คือ การเมือง ความขัดแย้ง และการคอรัปชั่น ขณะที่ "เอแบคโพล" ยืนยันว่า การเมือง คือ ต้นเหตุของความตกต่ำทางการศึกษา

แม้กระทั่ง ความเสี่ยงเป็น "โรคเครียดทางการเมือง" (Political Stress Syndrome : PSS) ที่กรมสุขภาพจิตออกมาเตือนก็ยังหลุดไม่พ้นเรื่องการเมือง

ไม่เท่านั้น ชีวิตประจำวันของเรายังมีเรื่องให้ปวดหัว และหนักใจรายล้อมอยู่มากมาย โดยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปีพ.ศ. 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุชัดเจนว่า ถึงรายได้จะเพิ่ม แต่รายจ่ายก็เพิ่มตามด้วย ซึ่งถือเป็น แรงกดดันสำคัญในการดำรงชีวิต

ยิ่งบวกกับข้อมูลข่าวสารถาโถมเข้าใส่ ก็อาจทำให้คนไทยยุคดิจิทัลออกอาการ "จิตหลุด" เอาง่ายๆ

'เครียด' อยู่รอบตัวเรา

ไม่ว่าจะการเมืองหรือการบ้าน ปัจจัยแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราล้วนสามารถเป็นชนวนเหตุชวนให้ "ขึ้น" ได้ทั้งนั้น ถึงสังคมส่วนใหญ่จะสามารถจัดการความรู้สึกของตัวเองได้ แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่แบกปัญหาเหล่านั้นไม่ไหว ทำให้สังคมมีคน "เสียจริต" เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ามารับการรักษาจำนวนกว่า 1,076,155 คน

ทั้งนี้ ลักษณะของการป่วยโรคจิตมีหลายประเภท แต่ประเภทที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มอาการคลุ้มคลั่ง ทำร่างกายตนเอง และทำร้ายร่างกายผู้อื่น ได้แก่ โรคจิตชนิดซึมเศร้า โดยคนที่เป็นโรคจิตชนิดนี้จะมีอาการเฉื่อยชา ไม่ดูแลตนเอง เบื่ออาหาร คิดมาก วิตกกังวล บางคนก็ร้องไห้ตลอดเวลา และบางคนอาจตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีอาการโรคจิตที่เกิดจากสารเสพติด ที่ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น โดยผู้ป่วยโรคจิตทั้งสองกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ฉุกเฉินได้มากที่สุด ซึ่งมีรายงานจากสถาบันการแพทย์- ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พบว่า ตั้งแต่ปี 2555 มี "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" ที่ได้รับการช่วยเหลือจากอาการคลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท และอารมณ์ 11,652 ครั้ง และในปี 2556 นี้ตัวเลขอยู่ที่ 7,588 ราย (ตัวเลขตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2555-มิถุนายน 2556) หรืออย่างจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลอย่างสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเองนั้น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

"แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นก็ค่อนข้างสัมพันธ์กับจำนวนประชากรนะครับ" นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณผู้ป่วย 5 ปีย้อนหลัง จากผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล 124,187 รายในปี 2552 ขึ้นมาเป็น 141,048 คนในปี 2556 เขาอธิบายถึงการเพิ่มดังกล่าวนั้นเป็นยอดตามจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ และประชากรแฝงในกรุงเทพมหานคร ที่มีกว่า 10 ล้านคนนั่นเอง

เมื่อประชากรเพิ่ม จำนวนผู้ป่วยก็ต้องมากขึ้นตาม ไปโดยปริยาย  "ไม่ใช่สภาพบีบคั้นทางสังคมทำให้ตัวเลขเจ็บป่วยค่อยๆ เพิ่ม อาจจะมีบ้าง แต่ไม่ถึงกับมาก ซึ่งโดยรวม อัตราการเจ็บป่วยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง อย่างโรคจิตอัตราเฉลี่ยการเกิดโรคในประชากรประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยคนส่วนใหญ่ก็จะปรับตัวได้" เขาให้เหตุผลอีกด้าน

บ้า หรือ ไม่บ้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่า "โรคจิต" ภาพที่มักติดตามเป็นเงาต่อมาก็คือ "คนบ้า" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนบ้าที่ต้อง "รำลิเก" ออกหน้าจอโทรทัศน์จนกลายของชินตาแฟนละครไทยไป

"ไม่เกี่ยวเลยครับ" นพ.วีรพล อุณหรัศมี รองผู้อำนวยการ ด้านวิชาการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยืนยันหนักแน่นถึง "ภาพจำ" ดังกล่าว

"บังเอิญ เขาอาจจะเป็นคนที่เสียจริตแบบน่ารักไง เขาก็เลยถูกถ่ายรูปบ่อย มีทุกแบบแหละคุณ เอาจริงๆ ฝรั่งเขาจะร้องลิเกไหม"

หรือในสังคมปัจจุบัน หากเดินไปตามท้องถนน เขายอมรับว่าเราก็ยังสามารถเห็นคนเสียจริตอยู่ แต่จะมี สักกี่คนที่ร้องลิเก เพราะในปัจจุบันลิเกไม่ได้เป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งปัจจัยที่การออกอาการว่าเป็นบ้าผ่านการร้องลิเกนั้นถือเป็นการแสดงออกว่าบ้าอย่างง่าย และน่ารักที่สุด

"ก็เหมือนอย่างเป็นวัณโรคต้องไอแล้วมีเลือดน่ะ จริงๆ แล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเลือด" นพ.วีรพลบอก

ความรู้ และความเข้าใจในเรื่องนี้จึงค่อนข้างจำเป็นทั้งสังคม คนรอบข้าง กระทั่งตัวผู้ป่วยเอง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า จิตเวช ยังถือเป็นโรคที่มีความละเอียดอ่อนสูง อยู่ อย่างครอบครัวของ นุช (ไม่ประสงค์จะออกนาม) อดีตครูโรงเรียนประถม ที่ตกลงกับสามีว่าออกจากงานประจำมาเลี้ยงลูก แต่ภายหลังจากที่สามีของเธอตกงาน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป บัญชีครอบครัวติด "ตัวแดง" ขณะที่รายจ่ายนับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จนในที่สุดเธอก็ตกอยู่ในภาวะเครียด และฟุ้งซ่าน

"ดูเผินๆ ไม่มีใครรู้หรอกครับ แต่ถ้าอาการกำเริบ เมื่อไหร่ เธอมักจะชอบเอาเงินไปซื้อของ แล้วก็คุยกับ คนโน้นคนนี้ไปเรื่อยทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกัน" สามีของเธอเล่าอาการคร่าวๆ  ทางฝ่ายญาติเองก็ดูเหมือนจะเข้าใจในตอนแรก แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้เงิน "มือเติบ" ก็ทำให้หลายคน อดสงสัยไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วนุชป่วยจริงหรือเปล่า จนเขาต้องเอาใบรับรองแพทย์มายืนยันเพื่อคลายความสงสัย หรือกรณีอย่าง เอก (นามสมมติ) หนุ่มการตลาดดีกรี ปริญญาโทจากเมืองนอกที่ชอบโทรศัพท์ไป "ระราน" เพื่อนร่วมงาน จนในที่สุดบริษัทก็ตัดสินใจเลิกจ้าง แต่กว่าจะเคลียร์กับครอบครัวเพื่อให้ยอมรับอาการได้นั้นก็ต้อง ใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน เรื่องเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความรู้ทั้งนั้น

"ตอนนี้ความเข้าถึงข้อมูลค่อนข้างง่าย เพราะมีอยู่บนอินเทอร์เน็ตเยอะแยะ คนที่สนใจก็สามารถเข้าไปดูได้ แต่มันก็คือความรู้ทั่วไป ซึ่งอาจจะไม่ตรงเสียทีเดียว หากต้องการความรู้เฉพาะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความ เจ็บป่วยของคนไข้แต่ละรายก็ต้องมานั่งคุยกับทีมผู้รักษา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักชีวบำบัด ก็ต้องทำเป็นรายๆ ไป" รองผู้อำนวยการคนเดิมบอกเข้าใจ - ให้โอกาส

ตลอดระยะเวลากว่า 125 ปีของการก่อตั้งโรงพยาบาลเพื่อผู้ป่วยจิตเวช ภายใต้ชื่อ "สมเด็จเจ้าพระยา" ถึงวันนี้บริบทของสังคมจะเปลี่ยน แต่ความมุ่งหวังของคนรักษาก็ยังคงเหมือนเดิม อย่างน้อยที่สุดพิพิธภัณฑ์จิตเวช แห่งแรกของประเทศไทยในรั้วสถาบันฯ ก็ได้รับการมุ่งหวังว่าจะใช้เป็นที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้านจิตเวชศาสตร์ให้แพร่หลายมากขึ้น

"ถ้าเรามีความพร้อมเรื่องเนื้อที่ ซึ่งอีกไม่ไกลถ้าทุกคนร่วมมือกันเราก็จะทำพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ ก็คือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้โรคทางจิตเวช ด้วยความมุ่งหวังว่า เมื่อเดินเข้าไปครบที่ส่วนของการจัดแสดงแล้ว ประชาชนจะต้องเข้าใจว่าโรคทางจิตเวชคืออะไร แล้วจะดูแลอย่างไร" หมอวีรพลเผยถึงแนวทางในอนาคต ระหว่างกิจกรรม "เปิดบ้านหลังคาแดง ชมพิพิธภัณฑ์จิตเวชแห่งแรก กับ เคทีซี" เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความเคลือบแคลงเกี่ยวกับโรคด้านจิตเวชกับสังคมไทยก็ยังถือเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอยู่

"ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ผมเชื่อว่าคนที่ได้เข้ามาสัมผัสก็จะช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับผู้ป่วย ก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วเขาสามารถทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ พูดคุยรู้เรื่อง และสามารถกลับไปอยู่ในสังคม อยู่กับครอบครัวได้ เพียงแต่ว่า ความเจ็บป่วยบางอย่าง โรคบางโรคอาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตบกพร่องไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้า อยู่ในกระบวนการรักษา ดูแลสม่ำเสมอ ครอบครัวเข้าใจ คนรอบข้างเข้าใจก็ทำให้เขาสามารถฟื้นฟูตัวเองจนอยู่ในสังคมได้ปกติเหมือนคนทั่วไป" นพ.สินเงิน ตอบ การอยู่ในสังคมได้ถือเป็นสิ่งจำเป็นอีกสำหรับตัว ผู้ป่วยเอง ดังนั้นนอกจากการรักษาแล้ว ยังมีเรื่องของ การเสริมทักษะชีวิตเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพราะด้วยทัศนคติในเชิงลบจึงทำให้วันนี้มีผู้ป่วยจิตเวชที่ "ถูกทิ้ง" ไว้กับ สถานพยาบาลมากมาย

"ในกรุงเทพมหานครก็ 300-400 คนแล้ว" นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยืนยัน นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อเคส ตามที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดเฉลี่ยราวหมื่นกว่าบาท เฉลี่ยวันนอน 30 วัน ซึ่งยัง ไม่นับต้นทุนเรื่องอาคารสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคที่ฝ่าย คนรักษาต้องแบกรับด้วย ซึ่ง องอาจ เชียงแขก นักกิจกรรมบำบัด ที่รับหน้าที่ดูแล "ร้านเพื่อน" ร้านแสดง สินค้าฝีมือผู้ป่วยในสถาบันฯ ยอมรับว่าจำเป็น อย่างน้อย ที่สุดก็เพื่อจะให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเลี้ยงดูตัวเอง ต่อไปได้

ยิ่งไปกว่านั้น การให้โอกาสพวกเขามีที่ยืนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม น่าจะถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเอาเข้าจริง แล้ว จิตเวชอาจใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคเงิน หรือข้าวของจำเป็นได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาใน พระราชูปถัมภ์ฯ เลขที่ 112 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพฯ 10600 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2442 2542

มองวิวัฒนาการค 125 ปี งานจิตเวชของสังคมไทยในวันที่การบ้านยุ่งเหยิงการเมืองวุ่นวาย ทำเอาหลายคนความเครียดทะลุปรอทอยู่ขณะนี้--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ