ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลสำรวจเผย! คนไทยไม่กล้าเล่นน้ำ เหตุกลัวถูกลวนลามกว่า 30% พม.-มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล-สสส. ร่วมรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” ทุกพื้นที่ต้องปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย พร้อมเปิดสถิติสงกรานต์ปี 66 รถชนตายคาที่สูง 53.4% เหตุขับขี่เร็ว แถมดื่มแล้วขับ ทำขาดสติ

รณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” ลดปัญหาคุกคามทางเพศ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 เม.ย. 67 ที่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเปิดจัดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” ว่า ตามที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดย ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดกิจกรรม “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” ตั้งแต่วันที่ 1 - 21 เม.ย. 2567 ทั่วประเทศ ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และมักมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท และการคุกคามทางเพศ 

“พม. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมายโดยเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ ให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างก็มีความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยกันสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน และร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบกับปัญหาเหล่านี้ และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์ ลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่าง ๆ และรณรงค์ต่อเนื่องในทุก ๆ วัน ไม่เฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น” ปลัด พม. กล่าว

ผลสำรวจชี้! ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5%

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 264 คน ลดลง 14 คน จากปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 278 คน ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตลดจาก 16.5% ในปี 2565 เหลือ 10.6% ในปี 2566 สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่ลดลงจาก 56.8% ในปี 2565 เหลือ 53.4% ในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที 

นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,725 คน ระหว่างวันที่ 24 - 30 มี.ค. 2566 เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า 96.5% เคยถูกปะแป้งที่ใบหน้าหรือร่างกาย 87.9% ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมองทำให้อึดอัด 85.7% เคยถูกฉวยโอกาสลวนลาม 84.9% เกิดอุบัติเหตุ 82.4% ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 73.8% ทะเลาะกันในครอบครัว

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างระบุว่าสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5% อุบัติเหตุ 22.5% 

“สงกรานต์ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง มีสติ มีขอบเขตและการเคารพสิทธิ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ากว่า 60 แห่ง โดยขอฝากทุกคนว่า “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการทำลายสมอง” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

สวนดุสิตโพลเผย 34.13% หวั่นการล่วงละเมิดทางเพศ

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,011 คน พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 66.09% ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เพราะต้องการพักผ่อน อากาศร้อน ขณะที่ 14.19% ที่ไม่เล่นเพราะกลัวถูกลวนลาม ซึ่งมีบางส่วนเคยถูกลวนลาม กลุ่มที่เคยเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79% (กลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุดถึง 76.77%) ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 32.43% พฤติกรรมที่พบมากที่สุดคือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45% ถูกสัมผัสร่างกาย 37.19% ถูกจับแก้ม 34.47% ใช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45% ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54% และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่นๆ ที่เกินเลย 16.55%

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง “รับรู้” ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา 92.10% 

“เมื่อสอบถามว่าในปี 2567 นี้จะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์หรือไม่ 48.49% รอดูสถานการณ์/การจัดงาน/กิจกรรม และไม่ออกแน่นอน 37.70% โดยกังวลเรื่องอันตราย/อุบัติเหตุมากที่สุด  85.06% การจราจรติดขัด 52.03% น้ำไม่สะอาดและโรคที่มากับน้ำ 47.12% สภาพอากาศร้อนและโรคที่มากับความร้อน 43.72% การดื่มสุรา/น้ำกระท่อมทำให้ขาดสติ แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท 40.22% และการล่วงละเมิดทางเพศ 34.13%” ดร.ณัฐพล กล่าว

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ ให้ระมัดระวังตนเองขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์ 24.33% มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจนและรุนแรงขึ้นกับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น 15.97% เพิ่มเจ้าหน้าที่คอยดูแลและควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดและทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงให้ภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแล 11.04% รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น 10% หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่มีคนหนาแน่นและเสี่ยงที่จะถูกลวนลาม  8.06% จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี และให้คนรุ่นใหม่รักษาและสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม 7.01%

ทั้งนี้ กิจกรรมในวันนี้ มีการปล่อยขบวนสามล้อรณรงค์มีป้ายแสดงข้อความเพื่อประชาสัมพันธ์การรณรงค์ว่า ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ การเคารพให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดภัย โดยขบวนสามล้อรณรงค์ในเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียงไปตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้