ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"การปฏิรูปเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ ที่เริ่มดีเดย์ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เรียกว่าเป็น "Second Version" ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยก็ว่าได้" ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวเปิดประเด็น

"นับตั้งแต่ปี 2545 ที่ประเทศไทยได้ถือกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เกือบ 98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนความสำเร็จสูงมาก อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยยังไม่ได้ลดลงอย่างที่คาดการณ์ไว้ และที่น่าตกใจก็คือ ตัวเลขค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพไทยก็พุ่งสูงตามไปด้วย"

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สูงขึ้นจาก 6 หมื่นล้านบาท เป็นกว่า 1.4 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากระบบเดิมมีการตัดจ่าย เงินงบประมาณตามจำนวนของผู้ป่วย (งบรายหัว) ทำให้ ค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพที่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 4-5% สูงขึ้นแบบผิดสัดส่วนเมื่อเทียบกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) โดยค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศจะอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี และหากรวมค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยจ่ายเองกับการรับบริการในสถานพยาบาลภาคเอกชนเข้าไปด้วยแล้ว คาดว่าค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศไทยอาจสูงถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของ จีดีพี

"ดังนั้นการปฏิรูปเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของระบบบริการให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด บริหารคนให้มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนางานบริการไปสู่ประชาชนให้ได้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนต่างๆ ได้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคน"

บริการด้านสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัด ถ้ามีกลไกที่มีประสิทธิภาพมาช่วยจัดบริการจะทำให้สามารถให้บริการได้ภายใต้ข้อจำกัดได้ดีขึ้นและยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาระบบสาธารณสุขในอนาคตได้อีกด้วย

ศ.นพ.สมเกียรติ พูดถึงแนวคิด "เขตบริการสุขภาพ" ว่าก็คือ "การกระจายอำนาจ (decentralize)" ออกไปที่ยังพื้นที่ แบ่งเป็น 12 เขตเครือข่ายบริการ (ยกเว้นกรุงเทพฯ เป็นเขตที่ 13) โดยประเทศเราจะมี 12 เขตนี้ เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในระดับกลุ่มจังหวัด ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ระบบสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค โดยวิธีการคือ จัดบริการ "ร่วม" ซึ่งมีเครื่องมือหลักคือผังบริการ (service plan) เพื่อให้ประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ที่มีประชากรอยู่

ประมาณสัก 4-5 ล้านคน ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเขตบริการนี้ถือว่าเป็น Economic Scale ที่สามารถบริหารจัดการการให้บริการ สามารถส่งต่อกันในพื้นที่ โดยมีการผนึกหน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมารวมกัน ซึ่งจะทำให้ระบบบริการมีคุณภาพ มาตรฐานและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มศักยภาพการบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดีที่สุด รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณกันอยู่ในพื้นที่โดยการดึงเงินมาไว้ตรงกลาง เพื่อให้เกิดกระบวนการตัดจ่ายอย่างเป็นธรรมและสมดุล

"เป้าหมาย "การปฏิรูป" ครั้งนี้ ไม่เพียงจะปรากฏเพียงตัวชี้วัดทางด้านการบริการสุขภาพ คุณภาพการรักษาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ยังมีตัวชี้วัดที่ครอบคลุมงานทาง "ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ" ด้วย ตรงนี้เองผมจึงย้ำว่าเป็น Second Version ที่จะมีการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนชาวไทย ด้วยแนวคิด "การลดจำนวนผู้ป่วย ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก" ที่จะป้องกันไม่ให้ป่วย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย ลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ระบบบริการหรือลดความแออัดในโรงพยาบาลให้มากที่สุด รวมทั้งเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน อันนี้คือประเด็นสำคัญที่ ผอ.สวรส. คิดว่าคือหัวใจสำคัญในการปฏิรูปครั้งใหญ่นี้ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์"

ระบบใน "การเสริมสร้างสุขภาพ" นี้ จึงถือว่าเป็น  แพ็กเกจ หนึ่งในการปฏิรูปเขตบริการสุขภาพ มุ่งหมายที่จะลดคนป่วยที่เข้าสู่ "ระบบบริการ" ไปด้วย

ทั้งนี้ หากหน่วยบริการต่างๆ คิดที่จะหาคนไข้เพิ่ม เพื่อจะไปเอาเงินกองกลางออกมา อันนี้ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นจะต้องมีการคิดใหม่ โดยทุกหน่วยบริการจะต้องทำให้การบริการมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ทำเรื่องการสร้างเสริม สุขภาพคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้คนป่วยลดลง หากพื้นที่ใดที่คนป่วยน้อยลงก็จะมีค่าตอบแทนสูงขึ้นเนื่องจากคนมีเงินเหลือ อันนี้คือแนวคิดที่อยากจะให้เกิด ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วต้องใช้ให้หมด หรือต้องมีคนป่วยมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมาขึ้น

"ประเด็นที่ผมกล่าวอาจจะพูดแบบสุดโต่งเกินไป เนื่องจากในอดีตเราไปเน้นการเพิ่มความต้องการการรักษาและเข้าสู่บริการจนทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ระบบกองทุนในการรักษาพยาบาลต่างๆ ก็อาจจะล้มละลายได้เหมือนกัน"

ศ.นพ.สมเกียรติ เชื่อว่าทุกฝ่ายที่ทำงานในแวดวงสาธารณสุข มุ่งหวังอยากจะทำให้ระบบนี้เกิดความยั่งยืน ซึ่งคิดว่าด้วยระบบใหม่นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เคยมีมาในอดีตและปิดช่องว่างต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อมอบเป็นของขวัญให้ประชาชนชาวไทย ในอนาคตหวังว่าลูกหลานของเราก็คงมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและยั่งยืนจากการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหม่นี้

สำหรับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนองค์ความรู้เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน เล็งเห็นว่า "องค์ความรู้" คือปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ โดย สวรส.ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางในการสร้างและจัดการองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ทางด้านการเงินการคลัง ด้านกำลังคนในระบบสุขภาพ ด้านกฎหมาย ด้านความรู้ทางการแพทย์ ด้านการพัฒนาระบบต่างๆ ด้านความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ภายใต้บริบทต่างๆ ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงได้มีข้อมูลสำหรับนำไปประกอบการตัดสินใจ ในการสร้างนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองกับความเป็นจริงในพื้นที่ เพื่อทำให้ทุกการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้มากที่สุด โดยการศึกษาวิจัยต่างๆ นี้ จะเข้าไปเติมเต็มช่องว่างของปัญหาและความต้องการการพัฒนา รวมทั้งเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบสาธารณสุข ดำเนินไปอย่างมีทิศทาง

เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี มีชีวิตที่ยืนยาว และให้ระบบสุขภาพของไทยมีความสมดุลและยั่งยืน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556