ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.จัดเสวนา ลดตาย-ลดเจ็บ สัญจรปีใหม่อย่างปลอดภัย ด้วยการเรียนรู้เทคนิคช่วยชีวิตฉุกเฉิน ระบุไทยตายจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจัยเกิดจาก คน-รถ-สภาพรถ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 56 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนา "ลดตาย-ลดเจ็บ" สัญจรปีใหม่อย่างปลอดภัย ด้วยการเรียนรู้เทคนิคช่วยชีวิตฉุกเฉิน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนหลีกทางให้รถพยาบาล โดยให้คิดเสมอว่าคนในรถฉุกเฉินเป็นญาติ เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยฉุกเฉินและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นจำนวนมาก จากสถิติในช่วง 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 พบการเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้เสียชีวิต 356 ราย บาดเจ็บ 3,329 คน จากการวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 3 ด้าน คือ

1.พฤติกรรมของคน โดยเกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า หลับใน การไม่สวมหมวกะนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และการโดยสารท้ายรถกระบะ

2.รถ คือสภาพรถไม่พร้อมต่อการเดินทาง และ 3.สภาพถนน คือถนนที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางโค้ง ทางแยก และจากสถิติของอุบัติเหตุดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด คิดเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 รายอย่างไรก็ตาม สพฉ.ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ และสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ทั้ง 78 ศูนย์ ให้ตรวจสอบหมายเลย 1669 เพื่อพร้อมใช้งาน ตลอด 24 ชั่วโมง และสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินอีกทาง คือ เรียกร้องให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน หลีกเลี่ยงทางให้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงรถพยาบาลฉุกเฉิน ควรชิดซ้าย หรือขวา เพื่อเปิดช่องว่างให้รถพยาบาลฉุกเฉินผ่านไปได้ และนำเสนอหลักคิดว่า ให้คิดเสมอว่าผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในรถ อาจจะเป็นญาติของเรา

ด้าน นพ.อัจฉริยะ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ให้ความรู้และการสังเกตรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.รถพยาบาลทั่วไป ที่ใช้ในการส่งต่อผู้ป่วย จะเป็นรถตู้ มีไฟบนหลังคาเป็นสีน้ำเงิน และ 2.รถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉิน จะเป็นในลักษณะของรถตู้และรถกระบะ โดยมีสัญลักษณ์เป็นไฟสีแดง-น้ำเงิน อยู่บนหลังคารถ ซึ่งไฟสีแดงหมายถึง รถต้องไปรับผู้ป่วย คือไม่มีผู้ป่วยอยู่บนรถ และไฟสีน้ำเงิน หมายถึง มีผู้ป่วยที่อาการหนักอยู่ในรถ ต้องเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าว่า ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายในเวลา 8 นาที จึงเป็นเหตุผลที่รถพยาบาลฉุกเฉินต้องใช้ความเร็วมากกว่าปกติ

ทั้งนี้ ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ในการกำกับดูแลรถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉิน จึงกำหนดสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพ และการตรวจรับรองรถ โดยมีในเรื่องของสติกเกอร์ที่ติดกับรถฉุกเฉิน ซึ่งสติกเกอร์จะแสดงให้เห็นว่า รถคันนี้เป็นรถของการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเงื่อนไขของรถที่จะมีสติกกเกอร์นี้ได้ จะต้องเป็นรถที่ได้มาตราฐาน มีอุปกรณ์พร้อม และบุคลกรที่เพียงพอ และสิ่งสำคัญคือ จะต้องมีหน่วยงานที่สังกัดที่ชัดเจน โดยสติกเกอร์นี้มีผลใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป และมีระยะเวลาสิ้นสุด 2 ปี