ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คร.เปิดผลสำรวจการดื่มเหล้าคนไทย พบ 77.6% รู้ดีว่าก่อให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่กลัว กว่า 27% ตั้งใจจะดื่มในช่วงเทศกาลปีใหม่ 25.6% เลือกขับขณะมึนเมา เตรียมรณรงค์ต่อเนื่อง จ่อออกกฎติดภาพคำเตือนบนขวดเหล้าเหมือนบุหรี่

วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าว “ผลสำรวจทัศนคติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการรับมืออุบัติเหตุช่วงปีใหม่” ว่า ดีดีซีโพล (DDC Poll) ประกอบด้วยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช กรมควบคุมโรค(คร.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ สถาบันการพลศึกษา ทำการสำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชนต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 2,058 รายใน 21 จังหวัด เมื่อวันที่ 11-19 ธ.ค. 2556 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 27.1 ตั้งใจจะดื่มในช่วงเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 45.4 ไม่ดื่ม นอกนั้นไม่แน่ใจ ขณะที่ร้อยละ 11.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และร้อยละ 42.5 ของกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำทุกวันอยากให้คนในครอบครัวร่วมดื่มเหล้าด้วย
       
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อผู้ให้กระเช้าของขวัญที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าร้อยละ 44.2 ไม่รู้สึกดี มีเพียงร้อยละ 10.5 ที่รู้สึกดี โดยร้อยละ 14.1 ของเพศชายรู้สึกดีเมื่อได้รับกระเช้าเหล้า และเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อผู้ดื่มเหล้าเป็นประจำ พบว่ารังเกียจถึงร้อยละ 22.5 เป็นคนมีปัญหาร้อยละ 34.1 รู้สึกมีเพื่อนเยอะร้อยละ 31.9 รู้สึกเท่ร้อยละ 5.9 เป็นต้น ส่วนเมื่อถามว่าการดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ส่งผลต่ออะไรบ้างพบว่า อุบัติเหตุร้อยละ 77.6 ภัยสุขภาพร้อยละ 68.1 ภัยสังคมร้อยละ 49.3 มีเพียงร้อยละ 4.9 คิดว่าไม่มีปัญหา แต่ที่น่ากังวลคือพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน ปกติจะขับรถเองร้อยละ 25.6 ไม่ได้ขับร้อยละ 34.5
       
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า เมื่อถามถึงการออกกฎหมายควบคุม โดยให้หน่วยงานรัฐจัดประชุม สัมมนาในโรงแรมหรือสถานที่ที่ไม่กระทำผิดพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พบว่าเห็นด้วยร้อยละ 77.8 และเมื่อถามว่าห้ามแสดงสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานดนตรี กิจกรรมอีเว้นท์ต่างๆ เห็นด้วยถึงร้อยละ 67.7 และร้อยละ 76.3 ยังเห็นด้วยหากมีการบังคับให้มีภาพคำเตือนบนกล่อง ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนบุหรี่ และร้อยละ 77.8 ให้มีกฎหมายห้ามขับขี่ยานพาหนะทุกชนิดเมื่อดื่มเหล้า
       
"จากผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนยังนิยมดื่มอยู่ ที่น่ากลัวคือ อยากให้ครอบครัวร่วมดื่มด้วย ที่สำคัญยังพบว่ามีการขับรถขณะมึนเมา ซึ่งตรงนี้ชัดเจนว่าต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และต้องเดินหน้าออกกฎหมายควบคุมต่อไป โดยเฉพาะการมีสัญลักษณ์คำเตือนบนขวดเหล้าเหมือนซองบุหรี่ ก็มีการสำรวจว่าเห็นด้วยให้ดำเนินการเช่นกัน" อธิบดี คร. กล่าว
       
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2556 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,176 ครั้ง บาดเจ็บ 3,329 คน เสียชีวิต 365 คน สาเหตุเกิดจากขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และเมาแล้วขับ ในปี 2557 นี้ ตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 โดย สธ.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดอื่น เช่น กลาโหม ตำรวจ ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 1,500 แห่ง เตรียมความพร้อมหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งขอความช่วยเหลือ ระบบการดูแลรักษาในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล เพื่อลดความรุนแรง ลดอัตราตาย และความพิการของผู้บาดเจ็บ -ผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุด หากประชาชนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที
       
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงทุกเขต กำกับ ติดตามการทำงานของจังหวัดในความรับผิดชอบ ในพื้นที่ที่มีจุดตรวจ/จุดบริการบนเส้นทางสายหลัก อยู่ห่างกันมาก ให้จัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉินประจำการเพิ่ม เพื่อให้การดูแลประชาชนอย่างรวดเร็ว
       
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมดูแลผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ได้ให้แต่ละโรงพยาบาลเตรียมความพร้อม 2 เรื่อง ได้แก่ 1. หน่วยแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ออกปฏิบัติการวันละ 13,810 คัน สามารถออกไปให้การดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งภายใน 10 นาที โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์กู้ชีพทั่วประเทศ ทางสายด่วนหมายเลข 1669 ฟรีทุกระบบตลอดเวลา 2.เตรียมกำลังแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินหรืออีอาร์ (ER) และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในโรงพยาบาล ทุกระดับ รวมจำนวน 162,798 คน พร้อมทั้งสำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที และสำรองเตียงรองรับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปรักษาอย่างรวดเร็ว และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน เครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ เกือบ 400 เครื่องทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย ค้นหาความผิดปกติและรักษาได้รวดเร็วที่สุด และมุ่งหวังช่วยชีวิตของผู้เจ็บป่วยให้รอดชีวิตและปลอดภัยที่สุด
"ขอย้ำเตือนประชาชนที่พบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน หากเป็นไปได้ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดความพิการ โดยเฉพาะในผู้ที่บาดเจ็บกระดูกหักใน เช่นกระดูกสันหลัง กระดูกต้นคอ อาจไม่มีบาดแผลปรากฏให้เห็น จึงขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น" รองปลัด สธ. กล่าว