ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดสถิติเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินใน ปี 2556 มากถึง 899,817 คน ระบุอุบัติเหตุจราจรครองแชมป์อันดับหนึ่ง ทำเด็กป่วยฉุกเฉิน 319,794 คน รองลงมาคือไฟช็อตและจมน้ำ พร้อมแนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และสอนให้เด็กสามารถเอาตัวรอดได้ หากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค. ทุกๆ ปี ถูกจัดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมาก ที่ยังต้องประสบกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุของเด็กๆ อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี ในปีพ.ศ. 56 ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กบาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 899,817 คน เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับหนึ่ง 319,794 คน อุบัติเหตุอื่นๆ เช่น การพลัดตกหกล้ม 91,902 คน ถูกทำร้าย 29,946 คน ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 3,612 คน บาดเจ็บทางน้ำ 1,598 คน

โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปี 2556 ที่ผ่านมา สถิติการให้ความช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุจราจรมาเป็นอันดับหนึ่ง มากถึงสามแสนกว่าคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กเมื่อประสบอุบัติเหตุ แนวโน้มในการเสียชีวิตจะมีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจะมีสูงมาก เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย และในกรณีนั่งรถยนต์เด็กที่เล็กมากๆ จะนั่งท้ายเบาะ หรือนั่งบนตักของผู้ปกครอง จึงไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กๆ จึงได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะไม่มีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยให้กับเด็กเลย ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานในการโดยสารรถยนต์ด้วยความระมัดระวัง ครอบครัวที่ต้องนำเด็กซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ ควรหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็กให้ใส่ หากเกิดอุบัติเหตุกับเด็กจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กได้ และหากจำเป็นต้องนำเด็กเล็กโดยสารไปกับรถยนต์ด้วย ก็ควรจัดหาเบาะนั่งสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีทที่มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็กติดกับที่นั่งมาไว้ใช้ ก็จะเป็นการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทางรถยนต์ได้อีกวิธีหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวอีกว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับเด็ก ที่น่าเป็นกังวลอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ไฟฟ้าช็อต จากสถิติการช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากการถูกไฟฟ้าช็อตมีมากถึงสามพันกว่าคน สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยผู้ปกครองควรหมั่นสำรวจและตรวจตราปลั๊กไฟในบ้าน ว่ามีการรั่วหรือไม่ หากพบเห็นไฟรั่ว ต้องรีบทำการซ่อมแซม ส่วนบ้านไหนที่มีเด็กเล็กมากๆ ควรวางปลั๊กไฟให้ห่างไกลจากเด็ก ไม่ให้นำมือมาแหย่ปลั๊กไฟเล่นได้ หรือควรหาฝาครอบปลั๊กไฟมาใช้ในกรณีที่ไม่สามารถย้ายปลั๊กไฟได้ ทั้งนี้ เมื่อเราพบเห็นเด็กถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต ให้รีบตัดกระแสไฟ และหาวัสดุที่เป็นฉนวน ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ เชือกที่แห้ง สายยาง ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนา จากนั้น ผลักหรือฉุดตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าช็อตให้หลุดออกมาโดยเร็ว และควรรีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพที่สายด่วน 1669 เข้าให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว

นพ.อนุชา ยังกล่าวถึงการช่วยชีวิตเด็กที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำ ซึ่งมีสถิติในปี 2556 ที่ผ่านมามากถึงพันกว่าคนอีกด้วย โดยระบุว่า ปัญหาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะส่งผลต่อการเสียชีวิตของเด็ก เพราะมีเด็กจำนวนมากที่ลงไปเล่นน้ำโดยว่ายน้ำไม่เป็น วิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำในเบื้องต้น เมื่อประสบเหตุว่า หากพบเห็นเด็กกำลังจมน้ำสิ่งที่ต้องรีบทำเป็นอันดับแรกคือ ต้องนำเด็กขึ้นจากน้ำให้ได้อย่างเร็วที่สุด และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ให้จัดส่งเจ้าหน้าเข้ามาช่วยเหลือเด็กให้ได้อย่างทันท่วงที สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือชีวิตเด็กนั้นเป็นไปอย่างช้าและยากลำบาก ทั้งนี้ เมื่อท่านนำเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้ว ให้รีบนำเด็กวางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้ง หากเด็กไม่รู้สึกตัว ให้คลำชีพจร ให้รีบช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการปั๊มหัวใจ (CPR) ซึ่งการทำ CPR ในเด็กเล็กจะแตกต่างกับการทำ CPR ในผู้ใหญ่เล็กน้อย สำหรับขั้นตอนการทำ CPR ดังนี้ คือ เมื่อปลุกเรียกแล้ว สังเกตว่าเด็กส่งเสียงหรือเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้าไม่ตอบสนอง ให้ทำการฟื้นคืนชีพทันทีจนครบ 2 นาที

"ไม่ว่าจะวันเด็กปีไหนๆ เราก็อยากเห็นเด็กๆ ทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขมากกว่าการที่จะต้องมาเจ็บป่วย ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นว่ากรณีไหนที่จะทำให้ลูกหลานของเราเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เราก็ต้องดูแลและป้องกันเด็กๆ และต้องคอยสอนให้เด็กๆ สามารถดูแลตนเอง เมื่อต้องพบเจอกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และจดจำสายด่วน 1669 เรียกใช้ทันทีเมื่อพบเหตุบาดเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ ในวันเด็กปีนี้" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว