ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ฟันผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย 122 ราย ใน 1 เดือน พบโฆษณาเกินจริงเช่นเดิม เผยนมแพะอ้างสรรพคุณเพียบ คล้ายนมคนลดภูมิแพ้ สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันทารกพิการ มีโฟเลตสูง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างรักษาสารพัดโรค

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า จากการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ พบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค โดยช่วง ธ.ค. 2556 ได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ 122 คดี มูลค่า 1,728,500 บาท พบเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตในผลิตภัณฑ์อาหารมากถึง 51 คดี รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยา 22 คดี ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ 1 คดี เครื่องสำอาง 2 คดี และคดีอื่นๆ อีก 46 คดี ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า อย่างผลิตภัณฑ์นม จะแสดงประโยชน์ลักษณะน้ำนมแพะคล้ายกับนมคน มีโปรตีนที่มีโครงสร้างใกล้เคียงนมคน ย่อยง่าย ช่วยลดปฏิกิริยาการเกิดภูมิแพ้ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ทำให้ท้องผูก แสดงประโยชน์ในลักษณะมีโฟเลตสูง ช่วยป้องกันความพิการของลูกในครรภ์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ระบุข้อความคุณแน่ใจหรือ? แค่แคลเซียม จะเพียงพอต่อกระดูกคุณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้มากกว่าแคลเซียม เป็นต้น พร้อมอ้างช่วยคุมน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน ทำให้ผิวพรรณสวยเปล่งปลั่งกระจ่างใส ช่วยลดอาการปวดข้อ ปวดกระดูก เสริมสร้างส่วนที่สึกหรอของร่างกาย บำรุงตับ บำรุงประสาทและสมอง เสริมสร้างความจำและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
       
"ข้อความโฆษณาเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวด เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ระบุมีสรรพคุณบำรุงร่างกายสำหรับผู้หญิง รักษาอาการปวดท้องปวดประจำเดือน เลือดออกเป็นลิ่ม อ้างช่วยเสริมสร้างกำลังให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยบำรุงปอดและหัวใจ มีส่วนในการบำรุงสมอง ช่วยปรับระบบประสาทให้สมดุล อ้างรักษาโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน อัมพฤกต์ อัมพาต" รองเลขาธิการ อย. กล่าว
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า ขอเตือนประชาชนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง และอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้น หรือเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง