ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์  - การดับเครื่องชนของนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่นำประชาคมสาธารณสุขออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นับเป็นข้าราชการระดับสูงระดับปลัดกระทรวงรายแรกที่หาญกล้าแสดงจุดยืน ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร เพื่อรักษาศักดิ์ศรีคนในกระทรวงสาธารณสุขจนถูกรัฐบาลออกคำสั่งเรียกสอบในเวลาต่อมา

"พี่น้องชาวประชาคมไม่ต้องห่วง ไม่ว่าผมจะถูกปลดหรือไม่ก็ได้ตัดสินใจไปแล้วตั้งแต่วันที่เดินออกมา เพราะผมคือนายณรงค์ หวังว่าไม่ว่าใครจะเป็นปลัดกระทรวงก็ตาม หากนำโดยไม่มีธรรมาภิบาล ประชาคมสาธารณสุขคงไม่ยอมอยู่แล้ว โดยขณะนี้ชาวสาธารณสุขยืนอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง สมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จย่า อยู่ข้างซ้ายผม"นพ.ณรงค์ เปิดใจเมื่อวันที่12 ม.ค. ได้รับเสียงสนับสนุนจากบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากที่ไม่เอารัฐบาลชุดนี้

เส้นทางปลัดสาธารณสุขของ นพ.ณรงค์ ได้รับการผลักดันจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ตั้งแต่ยังไม่เป็น รมว.สาธารณสุข ถือเป็นสายตรงคนหนึ่ง แต่ที่สุดก็กล้าออกขับไล่รัฐบาล ฉีกความสัมพันธ์ที่เป็นคอหอยกับลูกกระเดือก

แล้วปลัดกระทรวงอื่นซึ่งมีทั้งหมด20 ตำแหน่ง มีท่าทีอย่างไร หลังปลัดสาธารณสุขผู้กล้าได้เบิกโรง ปกป้องศักดิ์ศรีข้าราชการกระทรวงให้เห็นเป็นตัวอย่าง

จีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าไม่มีความคิดเห็นเรื่องแรงกดดันจากกปปส.ที่ต้องการให้ข้าราชการหยุดงาน ถือเป็นความคิดของแต่ละบุคคลข้าราชการกระทรวงแรงงานทำงานเพื่อประชาชนอยู่แล้ว

"ผมเป็นข้าราชการ ยังคงต้องทำงานต่อ หากหยุดงานประชาชนเดือดร้อน เวลาลูกเต้าเขาเจ็บ เขาป่วย เขาต้องเบิกเงินประกันสังคม เขาต้องมาหน่วยงานผมหรือเปล่าล่ะแม้กระทั่งคนที่อยู่ในม็อบ เขาก็ต้องมาหาผมอยู่ดี แล้วจะให้ผมหยุดได้ไง งานเรางานบริการประชาชน" จีรศักดิ์ กล่าว

สุทธศรี วงษ์สมานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ขอทำงานกระทรวงเรื่องปฏิรูปการศึกษาที่ได้รับผิดชอบให้เดินหน้าต่อไป เพราะถือเป็นงานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องโรงเรียนไหนปิดในช่วงนี้ไม่มีเวลาไปคิดถึงเรื่องอื่น

โชติ ตราชูปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ยังต้องทำหน้าที่ต่อเพราะมีหลายเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน

"ถ้าเราหยุดทำงานประชาชนเขาก็เดือดร้อนจำนวนมาก และเวลานี้ก็ยังไม่โดนแรงกดดันอะไรมาก เพราะกระทรวงเป็นกระทรวงเล็ก ไม่มีผลอะไรมาก หน่วยงานส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด"

วิเชียร ชวลิตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า โดยหน้าที่จะไปบอกอะไรคงไม่ได้ เพราะคงเป็นความเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องของส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ ไปผูกกันไม่ได้

"หน้าที่ปลัดกระทรวงเราเป็นข้าราชการประจำ ก็คงต้องทำหน้าที่ของฝ่ายประจำ ส่วนเรื่องความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องส่วนบุคคล"

นี่เป็นเสียงยืนยันจากปากปลัดกระทรวงบางส่วน ไม่มีทางลาออกตามคำเรียกร้องของแกนนำ กปปส.ไล่เรียงดูเส้นทาง ปลัดกระทรวงส่วนใหญ่กว่าจะขึ้นเป็นใหญ่ทุกวันนี้ มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองหลายคนยังเติบโตได้ดีจากรัฐบาลชุดนี้ จึงเชื่อว่ายากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ที่จะร่วมสนับสนุนกับภาคประชาชน

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เตรียมทหารรุ่น 14 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างผบช.น. รวมถึง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนหน้านี้ พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า กองทัพหนุนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ขึ้นมาแทน อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ที่ถูกย้ายไปนั่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รังสรรค์ถูกมองว่าใกล้ชิดกับ เบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยอยู่กรมสรรพากร รวมทั้งยังใกล้ชิด สมชายวงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ วิบูลย์ สงวนพงศ์ปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่ากันว่าแนบแน่นกับตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะ "เจ๊แดง"เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญปลัดกระทรวงพลังงาน เพิ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อเดือนต.ค. 2556 เป็นลูกหม้อของกระทรวงพลังงาน ถูกวางตัวมานาน ใกล้ชิดกับ ณอคุณ สิทธิพงศ์อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งณอคุณมีสายสัมพันธ์ดีกับ"เจ๊แดง" ถือว่าได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงเร็ว ข้ามผู้บริหารรายอื่นๆปัจจุบัน สุเทพ เหลืออายุราชการ 2 ปี

สมชัย ศิริวัฒนโชคนอกจากนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเหตุที่ สมชัย เข้าตาทำหน้าที่แม่บ้านกระทรวง ส่วนหนึ่งเพราะเคยทำงานร่วมกันกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ตั้งแต่สมัย ชัชชาติ เป็น รมช.คมนาคม จึงเป็นสัญญาใจที่จะมอบตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมให้สมชัย รับช่วงปลัดต่อจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี

ศรีรัตน์ รัษฐปานะปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเมื่อวันที่1 ต.ค. 2556 เคยเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2546 เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ชวลิต ชูขจรได้รับการตั้งเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี2555 สมัยที่ ธีระ วงศ์สมุทร เป็น รมว.เกษตรฯ แม้ไม่ใช่สายตรงของบรรหารบุรีเสียทีเดียว แต่มีแรงหนุนดีจากพรรคใหญ่

กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ธรรมดาจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานและโครงการพิเศษในยุคทักษิณ 1 ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโครงการลำไยอื้อฉาว ร่วมกับบรรพต หงษ์ทอง ร่วมกันปลุกปั้นโครงการ จนสุดท้ายโครงการลำไยล้มไม่เป็นท่า เพราะมีการทุจริตมากมาย

ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลเมื่อวันที่9 ม.ค. 2557 ว่าผิดวินัยร้ายแรง แต่เนื่องจากได้อานิสงส์จากพ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ทำให้ไม่หลุดจากตำแหน่งปลัด

เห็นเส้นทางเติบโตจากฝ่ายการเมือง จึงไม่แปลกที่ไม่มีสัญญาณตอบรับตามคำประกาศของ "ลุงกำนันสุเทพ" 

ผมเป็นข้าราชการยังคงต้องทำงานต่อ หากหยุดงานประชาชนเดือดร้อน เวลาลูกเต้าเขาเจ็บ เขาป่วย เขาต้องเบิกเงินประกันสังคม เขาต้องมาหน่วยงานผมหรือเปล่าล่ะ แม้กระทั่งคนที่อยู่ในม็อบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 15 มกราคม 2557