ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สยามรัฐ - ยูนิเซฟออกรายงานสภาวะเด็กโลกประจำปี 2557 ชื่อว่า ‘เด็กทุกคนมีความสำคัญ’ (Every Child Counts) เผยความเหลื่อมล้ำและเรียกร้องให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเพื่อให้ประชากรเด็กกว่า 2.2 พันล้านคนทั่วโลกได้รับสิทธิที่พวกเขาพึงมี

ยูนิเซฟยังเน้นถึงความสำคัญของข้อมูลที่ช่วยให้การทำงานเพื่อเด็กก้าวหน้าขึ้น โดยช่วยเผยให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการต่างๆ และการคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของเด็กจำนวนมาก

“การมีข้อมูลทำให้เราสามารถช่วยชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ หลายล้านคนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ขาดโอกาสมากที่สุด” เทสสา วาร์ดลอว์ หัวหน้าแผนกข้อมูลและการวิเคราะห์ของยูนิเซฟกล่าว “เราจะแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่ามีเด็กกลุ่มไหนถูกละเลยมากที่สุด มีเด็กๆ ทั้งชายและหญิงกี่คนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน และพื้นที่ไหนที่มีโรคระบาดหรือขาดสุขอนามัยมากที่สุด”

สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบได้ลดลงร้อยละ 65 นับตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงมากที่สุดในโลกเท่าๆกับในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริเบียน อย่างไรก็ตามประเทศที่มีอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบสูงที่สุดในเอเชียและแปซิฟิค คือ ประเทศลาว ในขณะที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์มีอัตรานี้ต่ำที่สุด

"โดยรวมแล้วความเป็นอยู่ของเด็กในเอเชียและแปซิฟิคได้พัฒนาไปมาก แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจะช่วยยูนิเซฟและรัฐบาลของประเทศต่างๆ เน้นการแก้ปัญหาไปยังเด็กกลุ่มขาดโอกาสที่สุดได้" นายแพทย์อีซิเย่ นดอมบี รองผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคกล่าว

ความเป็นอยู่ของเด็กทั่วโลกโดยรวมก็มีการพัฒนาไปมากตั้งแต่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีการลงนามในปี 2532 รายงานสถานการณ์เด็กโลกปี 2557 ของยูนิเซฟเผยตัวเลขให้เห็นว่า:

- เด็กประมาณ 90 ล้านคนซึ่งเสี่ยงต่อการตายก่อนอายุครบ 5 ขวบสามารถรอดชีวิต เนื่องจากความก้าวหน้าของการให้วัคซีนป้องกันโรค สาธารณสุข ตลอดจนการให้บริการด้านสุขอนามัยและการเข้าถึงน้ำสะอาด

- อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นแม้ในประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 81ในปี 2554

- การพัฒนาด้านโภชนาการทำให้อัตราแคระแกร็นของเด็กลดลงร้อยละ 37 นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

แต่กระนั้นสถิติจากรายงานนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิเด็กซึ่งยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

- ยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบประมาณ 6.6 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตในปี 2555 ด้วยสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กที่จะมีชีวิตรอดและพัฒนา

- ร้อยละ 15 ของเด็กทั่วโลกถูกใช้แรงงาน ซึ่งเป็นการแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเด็กและละเมิดสิทธิที่จะได้เรียนและเล่น

- มีเด็กหญิงร้อยละ 11 ต้องแต่งงานก่อนอายุครบ 15 ปี ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพอนามัย การศึกษาและการคุ้มครอง

ข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการสำรวจตามครัวเรือน โดยเฉพาะรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ซึ่งออกแบบและสนับสนุนโดยยูนิเซฟ และจัดทำโดยสำนักงานสถิติของประเทศต่างๆ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการมีชีวิตรอดของเด็ก การพัฒนา สิทธิตลอดจนประสบการณ์ในชีวิตของพวกเขา ณ ปัจจุบัน มีการจัดทำรายงานดังกล่าวในกว่า 100 ประเทศ ในการสำรวจครั้งล่าสุดมีการสัมภาษณ์กว่า 650,000 ครัวเรือนใน 50 ประเทศ สำหรับรายงานสภาวะเด็กโลกนั้นยูนิเซฟได้จัดทำมาแล้วเป็นเวลา 30 ปี เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์เด็ก โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.data.unicef.org

"ข้อมูลถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการโน้มน้าวผู้มีอำนาจตัดสินใจ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสที่สุด และยังเป็นสิ่งที่ใช้วัดถึงความก้าวหน้าว่านโยบายที่ได้ประกาศไว้นั้นสำเร็จไปถึงไหนแล้ว" นายแพทย์อีซิเย่กล่าว

ดาวน์โหลดวิดีโอได้ที่ http://weshare.unicef.org/mediaresources

อ่านรายงานสภาวะเด็กโลกฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) http://www.unicef.org/sowc2014/numbers

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

ณัฐฐา กีนะพันธ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 02 356 9478 หรือ nkeenapan@unicef.org

แอนดรู บราวน์ องค์การยูนิเซฟประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค 02 356 9407 หรือ ambrown@unicef.org

ที่มา: http://www.siamrath.co.th