ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - หนึ่งในเป้าหมายของการเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุของบ้านเรา คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการปรับปรุงสาธารณูปโภค และนำสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาเป็น เครื่องมือในการปฏิวัติวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

เมื่อเทคโนโลยี ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้าน การศึกษา และการสาธารณสุข ทำให้ผู้ที่รู้จักปรับใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น

หนึ่งในกิจกรรมดีๆ ซึ่งเป็นเสมือนโครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อำนวยความสะดวก จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา และเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรีในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกันเพื่อ "การจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกภาคตะวันออก" เพื่อส่งเสริมให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุที่เหมาะสม กับการแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งบริหารจัดการโดยชุมชน และ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกด้วย

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกภาคตะวันออก จะมุ่งเน้นการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และผู้พิการในชุมชนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และบางรายอาศัยอยู่ลำพัง โดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งจะมีการนำอุปกรณ์ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้คิดค้นขึ้น นำไปติดตั้งพร้อมสอนให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักวิธีการใช้งาน อาทิ  รีโมตสำหรับ ปิด-เปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสวิตซ์ไฟ

"ดร.ภาณุพงษ์ วันจันทึก" ผู้จัดการโครงการฯ เล่าว่า ทางศูนย์จะร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างน้อย 3 ฝ่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สมาคม ผู้พิการในส่วนต่างๆ ของจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มคนที่ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนแตกต่างกันออกไป แต่ทุกคนจะร่วมลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนจริงๆ

นอกจากนั้น อีกหนึ่งโครงการคู่ขนาน คือการสร้างสรรค์และให้ความรู้กับกลุ่มบุคลากรอาสาในชุมชนที่จะมาทำงาน เป็นผู้ซ่อมบำรุง และดูแลความปลอดภัยของระบบที่ทาง หน่วยงานได้เข้าไปติดตั้ง เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน และเกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในชุมชน

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงโครงการนี้ว่า กลุ่ม ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เมื่อมีอายุมากขึ้นจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมักจะมีโรคภัยไข้เจ็บตามมา ซึ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

"ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นนี้เพื่อชดเชยจุดขาดตรงนั้น โดยมองว่า ถ้าผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านคนเดียว ทำอย่างไรจึงจะอยู่อย่างปลอดภัย และผู้พิการจะมีอุปกรณ์ ในการช่วยเหลือ ฝึกอาชีพได้อย่างไรบ้างนั่นเอง"

และนี่คืออีกหนึ่งโครงการดีๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ และผู้สูงอายุในชุมชนที่ได้เริ่มต้นลงมือปฏิบัติและเห็นผลแล้ว เป็นอย่างดี ในอนาคตหากโครงการนี้ได้ขยายพื้นที่ลงไปในอีก หลายชุมชน

ท้ายที่สุดแล้ว การก้าวเข้าสู่สังคมแห่งผู้สูงอายุในบ้านเรา อาจไม่เป็นปัญหา หรือไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเหมือนที่หลายฝ่าย วิตกกังวลก็เป็นได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 17 มีนาคม 2557