ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - สธ. มุ่งพัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยทั่วประเทศ เริ่มที่เชียงราย หวังให้ผู้ปฏิบัติงานอาหารปลอดภัยของจังหวัด มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ(IHR,2005) และแนวทางการพัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยแบบบูรณาการตามมาตรฐานสากล นำไปสู่การมีสุขภาพดีของประชาชน และการเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการประเมินจากองค์การอนามัยโลก

นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าเชียงรายถือเป็นจังหวัดเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีเส้นทางเชื่อมต่อทางการค้าและนำเข้าพืชผักสินค้าอุปโภคบริโภคได้หลายเส้นทาง โดยเฉพาะอำเภอแม่สายมีเส้นทางการเชื่อมต่อมาจากประเทศพม่า-จีน อำเภอเชียงแสนเชื่อมต่อจากประเทศพม่า-ลาว-จีน และอำเภอเชียงของเชื่อมต่อจากประเทศ ลาว-จีน ถือเป็นประตูนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพืชผัก ผลไม้ ที่นำเข้ามาเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภคคนไทยได้บริโภค เช่น ตลาดไท ซึ่งเป็นแหล่งขายส่งผักสด-ผลไม้รายใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการพัฒนาระบบอาหารปลอดภัยอย่างบูรณาการตลอดห่วงโซ่ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นให้ความสนใจตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมา เพื่อการกลั่นกรองความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภคคนไทย เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือกให้เชียงรายเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับการตรวจเยี่ยมจากคณะทำงานระดับกระทรวงประเมินเพื่อพัฒนาระบบงานอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งจังหวัดเชียงรายถือเป็นจังหวัดที่มีเครือข่ายดูแลด้านอาหารปลอดภัยที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณคณะประเมินจากสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย หรือ สสอป. ประกอบด้วย นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการ พ.ญ.วราลักษณ์ ตังคณะกุล แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค น.ส.กัลยาณี ดีประเสริฐวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคุณภาพอาหารเภสัชกรหญิงผ่องพรรณ สุเมธาวานิชย์ อดีตเภสัชกรเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง นางกาญจนี หวังถิรอำนวย ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์งานอาหารปลอดภัย และ นางกุลธิดา ศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดเชียงราย มาร่วมประเมินหาจุดแข็ง จุดอ่อนเพื่อพัฒนาระบบงานด้านอาหารปลอดภัยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางไปพัฒนาระบบงานอาหารปลอดภัยในจังหวัดอื่นๆต่อไป

นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย(สสอป.) กล่าวว่า ความปลอดภัยด้านอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ให้มีการขับเคลื่อนการดูแลเรื่องอาหารปลอดภัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน และข้อกำหนดในกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยเน้นการป้องกัน เฝ้าระวังประเมินข้อมูลความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร และการบริโภคของประชาชนทุกกลุ่มวัยการสื่อสารความเสี่ยง และการตอบโต้ในกรณีฉุกเฉินและมีผลกระทบระหว่างประเทศ โดยให้มีการจัดทำข้อเสนอแนวนโยบาย แผนยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการ แนวทางการผลักดันสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนทอ้งถิ่นและการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ การกำกับติดตามประเมินผล โดยการประสานความร่วมมือระหว่างกรม  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสถานบริการสาธารณสุข และสถาบันที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสนับสนุนมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานอาหารปลอดภัยของหน่วยงานในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ตลอดจนการตรวจประเมินความสอดคล้องเพื่อรองรับระบบงานขององค์กรที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงไปสู่การมีสุขภาพดีของประชาชน และเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายต่างๆในพื้นที่

จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดนำร่องที่ได้รับการประเมินคุณภาพระบบงานอาหารปลอดภัยโดยเน้น 4 ระบบ คือ 1.ระบบนโยบายและบริหารจัดการ 2.ระบบป้องกันโดยสร้างมาตรฐานความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนผลิต-นำเข้า-จำหน่าย ทั้งที่ด่านตรวจชายแดน โรงงานแปรรูป ภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลาดซุปเปอร์มาเก็ต โรงพยาบาล โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เพื่อลดความเสี่ยงด้านเคมีและจุลินทรีย์ก่อโรค เชื่อมเครือข่ายการทำงานกับภาคเกษตร การท่องเที่ยวและประชาชน 3.ระบบเฝ้าระวังความเสี่ยงตามบริบทของพื้นที่ทั้งตัวอาหารและอุบัติการณ์เจ็บป่วยของประชาชนจากอาหารและน้ำ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทราบ และ 4.ระบบตอบโต้เมื่อมีปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยฉุกเฉินหรือมีคนป่วยจากอาหาร มีแผนรองรับอย่างเป็นระบบ(Food Safety Emergency Response Plan) ตามแนวทางสากล ทั้งนี้จังหวัดจะผนึกกำลังระหว่างทีมอาหารปลอดภัย (FS) ร่วมกับทีมสอบสวนควบคุมโรคและภัยสุขภาพเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ตั้งเป็น FSRRT (Food Safety Rapid Response Team) กรณีฉุกเฉินประจำจังหวัดและได้ พญ.วราลักษณ์ ตังคณะกุล รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค มาเป็นวิทยากร เพื่อให้ความรู้กับหัวหน้าหน่วยงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านอาหารปลอดภัยในจังหวัดเชียงราย ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR,2005) ด้านอาหารปลอดภัย และแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงในการสอบสวนโรคและระบาดวิทยากับมาตรฐานระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการประเมินตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดแรก และจะดำเนินการในเขตอื่นๆ ครบทุกเขต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวของสาธารณสุขในการบริการ "ประชาชนมีสุขภาพดี"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 10 เมษายน 2557