ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน-ห้วงเวลานี้ชื่อของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่การเมืองภาพใหญ่เท่านั้น แต่ในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขก็เกิดคำถามว่า การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขยุค "หมอณรงค์" จะออกมาในรูปแบบใด ยิ่งได้รับการตอบรับจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เมื่อครั้ง เดินทางไปเยือนกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศว่า "วันใดมีการปฏิรูปประเทศ ก็พร้อมจะปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข" นั้น ทำให้ต้องคิดว่า โรดแมปของ นพ.ณรงค์ในการเดินหน้าเรื่องสุขภาพจะเป็นเพียงการแบ่งเขตบริการสุขภาพเท่านั้นหรือไม่

การบริหารรูปแบบใหม่ด้วยการแบ่งเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ แต่ละเขตจะจัดกลุ่มโรงพยาบาลในเครือข่ายออกเป็น 4-5 จังหวัด เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายบริการ โดยมี สธ.ที่มีผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นผู้ดูแลในแต่ละเขตบริการสุขภาพ พูดง่ายๆ คือ สธ.จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้กำกับและควบคุมนโยบาย (Regulator) ส่วนโรงพยาบาลแต่ละเขตบริการสุขภาพจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ (Provider) ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินให้โรงพยาบาลในการดูแลคนไข้ หรือผู้ซื้อบริการ (Purchaser) โดยหลักถือเป็นการแบ่งหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน

แต่วิธีเหล่านี้เกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วการ เดินหน้ารูปแบบดังกล่าว ต้องการถ่วงดุลอำนาจ ขององค์กรอิสระอย่างองค์กร ส.ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะ สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ แม้จะมีภาระหน้าที่สำคัญ ทั้งการดูแลระบบสุขภาพของคนไทย การส่งเสริมป้องกันโรค การวิจัยเพื่อระบบสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาก็ถูกมองว่าเป็นองค์กรอิสระที่ยากจะควบคุม ด้วยเหตุนี้ ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้องค์กร ส.ทั้งหลายไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป สธ.ทั้งหมด แต่ก็ออกมาคัดค้านไม่ได้ เพราะกระแสปลัดมาแรง!! แต่ใช่ว่าจะไม่รู้สึกอะไร

โดยเฉพาะ สปสช. จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มีการใช้งบโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผิดประเภท ให้มีการตรวจสอบ และดำเนินการปรับปรุงระเบียบใหม่จะได้ไม่มีปัญหา ส่งผลให้ปลัด สธ.ทำหนังสือถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ปรับเปลี่ยนระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะยกเลิกการแต่งตั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัด เพราะเข้าข่ายทำงานทับซ้อน ไม่แยกระหว่าง "ผู้ซื้อบริการ" และ "ผู้ให้บริการ" เนื่องจาก นพ.สสจ.อยู่ในฐานะคนในสังกัด สธ. ซึ่งหาก สปสช.ไม่ยกเลิกก็จะไม่มีการทำงานร่วมกันอีก

จุดเริ่มของการปฏิรูป สธ.มาจากการเปลี่ยนระบบของ สปสช.หรือไม่?

เรื่องนี้หมอในองค์กร ส. มองว่า ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการปฏิรูปประเทศ คือ ปฏิรูป สธ. โดยเฉพาะการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วหากต้องการถ่วงดุลอำนาจขององค์กร ส.ต่างๆ ทำได้ง่ายมาก เพียงแต่ให้มาอยู่ในการดูแลของ สธ. แต่ให้ทำงานเป็นอิสระ โดย สธ.ทำตัวชี้วัดขึ้นมา เพื่อให้องค์กร ส.เดินไปตามเป้าหมาย โดยอย่าไปยุ่งกับการบริหารใดๆ แต่ขณะนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง สธ. กับ สปสช. ที่ไม่ได้ข้อยุติสักที ทำให้ถูกมองว่ามีนัยยะในการดึงอำนาจหรือไม่ เพราะล่าสุดแม้ สปสช.เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ เพื่อขอให้ยกเลิกการแต่งตั้ง นพ.สสจ.เป็นผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัด และยกเลิกการส่งเงินส่วนหนึ่งจากโครงการหลักประกันสุขภาพฯไปไว้ที่ สสจ.จำนวน 4-5 พันล้านบาท โดยให้ สปสช.สาขาจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการแทน

แต่ดูเหมือนปัญหาไม่ยุติ ล่าสุดเกิดเหตุการณ์สสจ.บอยคอตไม่ร่วมประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในถิ่นทุรกันดารตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เรียกว่า งบ Hardship ในวันที่ 25 เมษายน ที่ จ.สงขลา และยกเลิกการประชุมรับฟังแนวทางการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ในวันที่ 30 เมษายนนี้ รวมทั้งอาจไม่เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นระบบหลักประกันสุขภาพระดับชาติในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ด้วย

จริงๆ สธ.อาจต้องการให้ สปสช.บริหารจัดการด้วยการจัดสรรงบประมาณตามเขตบริการสุขภาพมากกว่า เพราะจะทำให้การทำงานเป็นระบบ มีการจัดซื้อบริการตามจริง แต่ก็เกิดคำถามขึ้นอีกฝั่งว่า หากซื้อตามเขตบริการสุขภาพของ สธ. แต่มีผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธานดูแลก็อาจเกิดความซ้ำซ้อนในหน้าที่ระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการหรือไม่ ปัญหาที่สำคัญ คือ หากสุดท้ายการซื้อบริการของ สปสช.ต้องอิงเขตบริการสุขภาพ ต่อไปเมื่อโอนเงินในกองทุนก็ต้องเดินตามเขตบริการสุขภาพนั้นๆ หรือไม่ แบบนี้ สปสช.จะทำหน้าที่เพียงผู้โอนเงินตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีสิทธิมีเสียงอีก

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ 

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า เท่าที่ทราบคือ ได้มีการเจรจากับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.แล้วว่าจะตั้งทีมทำงานขึ้นมาเพื่อหารือถึงทางออกในการปรับระเบียบการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และ สปสช. เพื่อให้การทำงานดีขึ้น ลดความซ้ำซ้อน มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน โดยแต่ละฝ่ายจะมี 5 คน

"ฝั่ง สธ.จะมีผมเป็นหัวหน้าทีม ฝั่ง สปสช.มี นพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุท รองเลขาธิการ สปสช.เป็นหัวหน้าทีม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนที่ สปสช.จะเสนอบอร์ด สปสช.พิจารณาเรื่องอะไรนั้นไม่ทราบ เพราะคนละส่วนกัน ขอย้ำว่าเราไม่ได้ต้องการนำเงินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาไว้ในที่เขตบริการสุขภาพ โดยเงินนั้น สปสช.ยังเป็นผู้จ่ายไปยังโรงพยาบาล เพียงแต่เขตบริการสุขภาพจะทำหน้าที่ประเมิน มีตัวชี้วัดว่า โรงพยาบาลไหนทำงานอย่างไร และชี้เป้าให้ สปสช.ในการจ่ายเงินไปอย่างถูกจุด ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมามีโครงการผุดขึ้นมากมาย แต่ไม่มีผลลัพธ์กลับคืนประชาชน มีแต่รายงานในกระดาษ ซึ่งเป็นการใช้เงินไม่ถูกต้อง การได้งบประมาณมาจะต้องมีการประเมินไม่ใช่ใช้เงินอย่างเดียว" นพ.วชิระกล่าวทิ้งท้าย

เรื่องนี้คงไม่ง่ายนัก และปัญหาอาจลุกลามใหญ่โตภายในเร็วๆ นี้

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : warunee11@yahoo.com

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 26 เมษายน 2557