ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนจากโรคไข้หวัดใหญ่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าในปีนี้ประชาชนป่วยจากโรคนี้มากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2557 จนถึงวันที่ 25 เมษายน สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากทั่วประเทศป่วย 30,024 ราย จำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2556 ถึงร้อยละ 36 ผู้เสียชีวิต 50 ราย ขณะที่ตลอดปี 2556 ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย คณะผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่า เชื้อที่เป็นสาเหตุการป่วยส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นเชื้อตัวล่าสุดที่พบระบาดทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วยในปี 2552 จัดเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์อื่นๆ ที่เกิดในช่วงเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้น้อย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ป่วยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สายพันธุ์นี้ไม่เคยระบาดมาก่อน โดยแนวโน้มในสัปดาห์นี้ชะลอตัว ผู้ป่วยเริ่มน้อยลงจากสัปดาห์ละประมาณ 2,000 รายเหลือ 500 กว่าราย แต่คาดว่าจะเริ่มระบาดระลอก2 มากขึ้นในช่วงฤดูฝน และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยตลอดปีจะมากกว่าในปี 2556

ขณะที่กรมควบคุมโรคได้จัดทำข้อความสำคัญ (Key message) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 2009 ดังนี้

แนวโน้มการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 2009 ขณะนี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3 ปี ย้อนหลัง

คาดว่าปีนี้จะมีการระบาดรุนแรงรองจากปี 2552-2553 โดยในระลอกแรกของปีต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือนแล้วจะลดลงในฤด฿ร้อน จากนั้นจะเริ่มระลอกใหญ่ประจำปีตามฤดูกาลอีกครั้งในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยโดยรวมทั้งประเทศตลอดทั้งปีมากกว่าปีที่ผ่านมา

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 2009 พบครั้งแรกในปี 2552 ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ แต่หลังจากนั้นเชื้อนี้ก็กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในประเทศต่างๆทั่วโลกต่อเนื่องมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเชื้อ H1N1 2009 มีความรุนแรงกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์อื่น ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน โดยมีอัตราป่วยตายและอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงกว่า ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีก่อน

ประชาชนอาจมีภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์ H1N1 2009 นี้ น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อมีการระบาดในพื้นที่ที่ยังไม่เคยระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้มาก่อน จึงมีผู้ป่วยได้มากเป็นพิเศษ

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็อายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน ควรไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดการป่วยและความรุนแรงของโรค ทั้งนี้วัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสปสช.จะเริ่มให้บริการวันที่ 1 พฤษภาคม 2557-31 กรกฎาคม 2557

ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สถานพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเสียค่าใช้จ่ายตามที่สถานพยาบาลกำหนด

แพทย์ควรพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) แก่ผู้ป่วยเร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มป่วย