ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คลินิกชุมชน เขตสาทร วุ่น หลังมีผู้ร้องเรียนตั้งในเขตอันตราย ทั้งร้านตัดกระจก-อู่ซ่อมรถ ประกบด้านข้าง ด้านหลัง ด้าน สปสช.แจง ปัญหาร้องเรียนเกิดจากผู้เสียสิทธิได้รับการก่อตั้งป่วน แต่ให้กรรมการตรวจสอบอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย เร่งให้ได้ข้อสรุปใน พ.ค.นี้ ด้าน สบส.ระบุ ที่ตั้งสถานพยาบาลต้องปลอดภัย แต่ต้องดูว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ

บริเวณที่จะก่อตั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีผู้ร้องเรียนว่าไม่เหมาะสมเพราะติดร้านตัดกระจก

สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนการก่อตั้งคลินิกสุขภาพชุมชนในเขตสาทร ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 ทำร่วมกับโรงพยาบาลเลิดสิน โดยคัดเลือกอาคารพาณิชย์เลขที่ 42-44 ซ.จันทน์ 16 แขวงทุ่งวัดดอนเขตสาทร ทั้งๆ ที่อาคารดังกล่าวอยู่ติดกับโรงงานอลูมิเนียมและกระจกและอีกข้างหนึ่งก็ติดกับอู่ซ่อมเบรค-ครัช ส่วนด้านหลังของอาคารก็ยังมีอู่ซ่อมรถอีก 1 แห่ง จึงเกรงว่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้มาใช้บริการ ดังนี้ คือ 1.ปัญหาการยกกระจกแผ่นใหญ่เข้าโรงงานซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุกับคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้รวมถึงเด็กและคนชรา 2.ปัญหาการเก็บเศษกระจกที่เหลือจากการทำงานซึ่งต้องตีให้แตกและตักขึ้นรถที่มาซื้อ เศษกระจกเหล่านี้บางส่วนอาจตกอยู่บริเวณหน้าโรงงานและหน้าคลินิกอันอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย 3.ปัญหาฝุ่นกระจกอันเกิดจากการเจียรกระจก 4.ปัญหาด้านเสียงตัดอลูมิเนียมภายในโรงงานเพราะตัวอาคารใช้กำแพงแผ่นเดียวกัน 5.ปัญหาด้านที่จอดรถเพราะโรงงานมีรถอยู่หลายคันต้องขึ้นของและส่งของไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ทั้งนี้ยังไม่รวมปัญหาที่เกิดจากการจอดรถของอู่บริเวณหลังอาคารและการจอดรถซ่อมของอู่ซ่อมเบรก-ครัช ผู้ร้องเกรงว่าหากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจะเกิดความเสียหายได้

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โครงการคลินิกชุมชนเป็นโครงการที่สปสช.ทำร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศเพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคพื้นฐานให้กับผู้ป่วยนอก ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกชุมชนประมาณ 150 แห่ง ดูแลประชาชนประมาณ 10,000-20,000 ประชากรต่อหน่วยบริการ ซึ่งทำมานานกว่า 7-8 ปี แล้ว ส่วนที่เป็นปัญหาในพื้นที่ สปสช.เขต 13 สาทรนั้น ข้อเท็จจริงคือเดิมเปิดให้มีการสมัครเข้ามาขอเปิดคลินิกบริเวณต่างๆ ซึ่งพบว่ามีสมัครเข้ามา 6 ราย คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากโรงพยาบาลเลิดสิน ผู้แทนสปสช.เขต 13 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)  และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ได้ทำการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งคลินิกชุมชนออกมา ทั้งนี้พื้นที่ที่เป็นปัญหานั้นได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับที่ 1 แต่ถูกร้องเรียนโดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 2

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าทั้งรายได้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 มีที่ตั้งของอาคารพาณิชย์ใกล้เคียงกัน หากร้องเรียนเรื่องความเหมาะสมของที่ตั้งคลินิกชุมชน และหากตรวจสอบแล้วว่าไม่สามารถตั้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ก็ไม่น่าจะสามารถตั้งได้ทั้ง 2 อาคารที่ได้รับการคัดเลือกนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาทางสปสช.ได้ให้คณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบ และทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยทางคณะกรรมการจะมีการประชุมกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และจะสรุปเรื่องการตั้งคลินิกชุมชนเขตสาทรได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“จริงๆ การก่อสร้างคลินิกยังต้องมีการทุบตึก มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ต้องไปขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์จากกองประกอบโรคศิลป์ กรรมการมีข้อคิดวินิจฉัยอยู่ พอมีเรื่องร้องเรียนมาเลยให้กรรมการไปทบทวนใหม่ ยืนยันว่าเราโปร่งใส ไม่มีนอกไม่มีใน” นพ.วีระวัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การตรวจสอบสถานบริการทางการแพทย์นั้นจะมี 2 กระบวนการคือ ช่วงก่อนได้รับอนุญาต จะต้องมีพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเอกสารส่วนตัวของผู้ประกอบกิจการ และตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ในการเช่า ชื้อ หรือเอกสารยินยอมให้ใช้สถานที่ แผนผังสถานที่ โดยตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการเปิดสถานพยาบาลต้องมีเอกสารเหล่านี้มาแสดง และส่วนที่ 2 หลังการยื่นขอเปิดสถานพยาบาลแล้วจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ 1.ลักษณะทั่วไปของตัวอาคารว่าเป็นอย่างไร เหมาะสม ปลอดภัย โดยในส่วนของคลินิกต้องมีพื้นที่ตัวอาคารไม่ต่ำกว่า 20 ตารางเมตร มีเส้นทางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ตั้งอยู่ในสถานที่ที่มีอุปสรรค อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าที่ตั้งของสถานพยาบาลต้องอยู่ห่างจากจุดที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายในระยะเท่าไหร่ 2.ตรวจสอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ 3.ตรวจสอบรายละเอียดการแสดงหลักฐานที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยทราบ เช่น รายชื่อแพทย์ อัตราค่ารักษา ฯ ว่าตรงตามที่แจ้งเอาไว้หรือไม่

ทั้งนี้ในส่วนที่เป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยของสถานที่นั้นจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการสถานพยาบาล และดูเรื่องความปลอดภัยของประชาชน อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนนั้นต้องดูว่าเป็นอันตรายที่สถานพยาบาลเป็นผู้กระทำ หรือผู้อื่นเป็นผู้กระทำ เช่น กรณีการตัดกระจกที่เกรงว่าจะเกิดอันตรายก็ก็ต้องดูว่ามีการตัดกระจกภายในร้านหรือนอกร้านนั้น ซึ่งตามปกติจะต้องดำเนินการภายในร้านของตัวเอง อย่างไรก็ตามหากมีกรณีที่อาจจะเกิดอันตรายก็อาจจะต้องให้สถานพยาบาลนั้นทำการปรับปรุงพื้นที่ให้มีความปลอดภัย คือถ้าเป็นความผิดที่ผู้อื่นกระทำก็ต้องให้เขาเป็นผู้ปรับปรุง ยกเว้นถ้าเป็นอันตรายมาก เช่น เช่นด้านหน้าคลินิกมีเสาไฟฟ้าใกล้จะโค่นล้ม อาจจะขอให้ปิดทำการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงให้พื้นที่มีความปลอดภัยก่อน