ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เร่งเยียวยา 2 จนท.สาธารณสุข จ.นราธิวาส หลังถูกจอยิงกลางตลาดนัดหน้า รพ.ศรีสาคร และหนึ่งในผู้บาดเจ็บเสียชีวิตหลังนำส่ง รพ. ตาม “ข้อบังคับว่าช่วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2556” พร้อมแสดงความเสียใจต่อ จนท.สาธารณสุขที่บาดเจ็บ และเสียชีวิต

จากกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ถูกคนร้ายจ่อยิง 2 ราย บริเวณตลาดนัดหน้าโรงพยาบาลศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ซึ่งถูกนำเข้ารักษายังโรงพยาบาลศรีสาครและได้ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลปัตตานี โดย น.ส.จริยา พรหมนวล อายุ 29 ปี ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ถูกยิงเข้าที่ขมับได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ น.ส.พิณยุพา วชิรกิจโกศล อายุ 25 ปี ลูกจ้างสาธารณสุข ถูกยิงเข้าที่แก้ม อาการล่าสุดยังคงสาหัสและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังนับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือน ทำลายขวัญกำลังใจบุคลากรในแวดลงสาธารณสุขอย่างมาก เป็นที่ทราบดีว่าวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้หน่วยงานสังกัดใดหรือฝ่ายใด ในการทำงานแม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง จะได้รับการยกเว้นการทำร้าย และถือเป็นหลักสากลที่ปฏิบัติแม้ในภาวะสงครามระหว่างประเทศก็ตาม

เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเศร้าสลดใจเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกทำร้ายทั้ง 2 รายเป็นผู้หญิงแล้ว น.ส.จริยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เสียชีวิตลง ยังอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน จึงขอร่วมประณามเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พร้อมขอแสดงความเสียใจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกทำร้ายจากเหตุการณ์นี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธาธารณสุขที่เสียชีวิตลงและครอบครัว

นพ.วินัย กล่าวว่า น.ส.จริยา และ น.ส.พิณยุพา เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตาม “ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ. 2556” ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อให้การดูแลผู้ให้บริการในหน่วยบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะให้การชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณสุขกับผู้ให้บริการหรือทายาท ซึ่งจะได้รับการชดเชยเช่นเดียวกับ มาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้รับบริการ  

ทั้งนี้ในกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งทางคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าว