ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ส่งทีมสุขภาพจิต ดูแลผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว พบ หวาดผวา ตื่นตระหนกข่าวลือ พร้อมเฝ้าระวัง หวั่นเกิด PTSD

จากเหตุแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย โดยรู้สึกสั่นไหวได้ในหลายพื้นที่ และมีอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องอีกหลายครั้งนั้น นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต  รพ.สวนปรุง (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประสานงานร่วมกับ ทีม MCATT พื้นที่อำเภอแม่ลาวและอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เพื่อให้การดูแลประเมินผลกระทบและเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัว และผู้ได้รับผลกระทบบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ในเบื้องต้น พบว่า ผู้ประสบภัยมีความเครียด ไม่กล้าอยู่ในบ้าน  มีภาวะหวาดกลัวมาก และตื่นตระหนกกับข่าวลือเรื่องแผ่นดินแยก/เขื่อนแม่สรวยแตก ทำใหัอดนอน หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ โดยได้ให้คำแนะนำและใช้เทคนิคปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น ประเมินภาวะความเครียดและวิตกกังวล เพื่อป้องกันการเกิดโรคเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) รวมทั้ง แนะนำการใช้เทคนิคคลายเครียด

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า  หลังจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด โดยไม่คาดคิดมาก่อน ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์วิกฤตหรือภัยพิบัติในช่วง 3 วันแรกถึง 2 สัปดาห์ ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะด้านจิตใจ จะมีอาการ ช็อก ตื่นตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล สับสน ไม่มีสมาธิ เครียด บางรายมีภาวะซึมเศร้า โกรธ ส่วนด้านร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น ไม่มีแรง ปวดศีรษะ นอน    ไม่หลับ รับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งอาการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาการดังกล่าวจะค่อยๆหายไปและดีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ – 1 เดือน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบในเด็ก จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ เช่น เด็กอายุ 1 -5 ปี จะมีอาการกลัว ร้องไห้ โยเยติดแม่ กลัวคนแปลกหน้า หงุดหงิด โมโหง่าย กลัวการอยู่คนเดียว ปัสสาวะรดที่นอน ขณะที่ เด็กอายุ 6 -11 ปี จะแยกตัวเองออกจากกลุ่มเพื่อน ไม่มีสมาธิ ต้องการให้พ่อแม่อยู่ใกล้ชิด ให้ความสนใจตลอดเวลา มีพฤติกรรมถดถอยแบบเด็ก ๆ ไม่อยากไปโรงเรียน กลัวการนอนคนเดียว ส่วนเด็กอายุ    12 -14 ปี จะมีพฤติกรรมแยกตนเอง ไม่สนใจกิจกรรมร่วมกับครอบครัว สนใจเรื่องเรียนน้อยลง มีพฤติกรรมก่อกวน ต่อต้านผู้ใหญ่ มีอาการทางกายที่เป็นสาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ ฝันร้าย เป็นต้น ซึ่งทีมสุขภาพจิตได้คัดแยกเด็กโรงเรียนที่ประสบภัยแผ่นดินไหว อาทิ บ้านห้วยส้าน อ.แม่ลาว และ แนะนำเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นช่วยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า หากภายหลัง 1 เดือน พบว่า มีอาการเครียดค่อนข้างรุนแรง ฝันร้ายบ่อยๆ สะดุ้ง หวาดผวา รู้สึกเหมือนตนเองตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอดเวลา ไร้อารมณ์ มึนชา ตกใจง่าย หงุดหงิดโมโหง่าย กระสับกระส่าย หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความทรงจำที่ปวดร้าว วิตกกังวล / ซึมเศร้า อย่างรุนแรง รู้สึกไร้ค่า มีความคิดอยากตาย ความจำไม่ดี การรับรู้ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป หากมีอาการดังกล่าวแสดงว่าเป็นโรคเครียดอย่างรุนแรงหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ  PTSD ( Post Traumatic Stress Disorder) จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

ในการปรับสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยภายหลังเกิดภัยพิบัติ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะว่า ผู้เกี่ยวข้องหรือให้ความช่วยเหลือควรปล่อยให้ผู้ประสบภัยได้ระบายถึงความเครียด ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้น รวมทั้ง ช่วยกันเยียวยาโดยการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ที่ประสบภัย ส่งเสริมให้ผู้ประสบภัยได้พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนให้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับข่าวสารและภาพข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติมากเกินไปเพื่อลดความตึงเครียด ตลอดจนให้ผู้ประสบภัยได้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เชิญชวนผู้ประสบภัยร่วมกันฟื้นฟูชุมชนและสังคมของตนเอง รวมทั้งทำกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด ซึ่งผู้ประสบภัยเองก็ต้องพยายามพบปะพูดคุยกับคนอื่นตามปกติ ไม่หลีกเลี่ยงการพูดคุยถึงเหตุการณ์ร้ายที่ประสบมา ไม่ปลีกตัวเองออกจากสังคมหรืองดเว้นกิจกรรมที่เคยชอบเคยปฏิบัติ พยายามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามปกติเท่าที่ทำได้ หากพยายามแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

เพื่อลดความวิตกกังวลจากข่าวลือหรือคำทำนายต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะให้ พึงตั้งสติและระมัดระวังในการติดตามและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ออกไป อย่าตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัว โดย ต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏนั้นย่อมมีทั้งข่าวจริง ข่าวลือ ข่าวปล่อย ค่อยๆ กลั่นกรอง อย่ารีบร้อน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล มองโลกในแง่ลบมากขึ้น ดังนั้น จึงควรเสพข้อมูลจากคนที่ไว้ใจได้ หรือตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง อาจใช้กลไกการสื่อสารของชุมชน เช่น วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี ตลอดจนคนในชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อเฝ้าระวังและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิต จะทำการประเมินและติดตามความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะ PTSD ตลอดจน   เฝ้าระวังปัญหาการทำร้ายตนเอง ในระยะยาว เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนกรณีบ้านเรือนได้รับความเสียหายและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ต่อไป ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ทีมสุขภาพจิตในพื้นที่ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว