ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ตื่น ตั้งอนุกรรมการสร้างมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินใน รพ. เน้นลดความเหลื่อมล้ำในการรักษา กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายใน รพ.เอกชน หลังประชาชนตกเป็นเหยื่อ ขาดความเชื่อมั่น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครั้งที่ผ่านมา ตนได้เสนอให้บอร์ดทบทวนประกาศหลักเกณฑ์ในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน เพราะเห็นว่าหลังดำเนินการมาแล้วทำให้ประชาชนต้องจ่ายส่วนต่างที่ค่อนข้างสูงให้กับ รพ.เอกชน และถูกเรียกเก็บเงิน เพราะถูกวินิจฉัยว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน และยังพบว่าประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปขัดกับมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้ประชาชนหลายรายใช้สิทธิ์ป่วยฉุกเฉินไม่ได้ ต้องรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายเองจนทำให้ล้มละลายไปแล้วหลายราย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องไปพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

เนื่องจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผย ว่า ขณะนี้พบว่าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องการไปใช้บริการสถานพยาบาลกรณีฉุกเฉิน ทั้งในส่วนของ รพ.ของรัฐที่วิตกในเรื่องของการรอคิวนาน มาตรฐานการรักษา ส่วนสถานพยาบาลเอกชน ประชาชนส่วนใหญ่จะวิตกกัง วลในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น คณะกรรม การ สปสช.จึงได้ตั้งอนุกรรมการบริหารระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินใน รพ. โดยเน้นไป ที่การลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการสา ธารณสุขกรณีการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจะมีการพิจารณาจัดทำข้อเสนอเรื่องการจัดรูปแบบการสนับสนุน การให้บริการ และการจ่ายเงินชดเชยอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการพิจารณากำหนดอัตราการเก็บค่ารักษาพยาบาลในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน เข้าได้ทุกโรงพยาบาล โดยไม่ถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่ายด้วย โดยจะมีการหารือครั้งแรกประมาณอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

"เรากำลังพยายามหยิบเอาเรื่องการบริการการแพทย์ฉุกเฉินในกรณีที่อยู่ใน รพ.มาดูว่าจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้คนไข้ถูกเรียกเก็บเงิน มีระบบส่งต่อหลังผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว" นพ.วินัยกล่าว

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ มีทั้งหมด 20 คน ประกอบด้วย นพ.จรัญ ตฤณวุฒิพงษ์ เป็นประธาน เลขาธิการ สปสช. เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้านระบบบริการ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายก แพทยสภา นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศ ไทย ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลของกลุ่ม สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เลขาธิ การสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย อธิบดีกรมการค้าภายใน นายเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายพงษ์พิสุทธิ์ จงอุดม นายวิทยา ชาติบัญชาชัย นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายวรวิทย์ บุรณศิริ รองหรือผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ที่ได้รับมอบหมาย และประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 12 พฤษภาคม 2557